FASHION

ล้วงลึกความฝันของ Hubert de Givenchy ที่ทำให้ความสวยงามในโลกแฟชั่นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

     ย้อนประวัติศาสตร์ไปเกินครึ่งศตวรรษ เหล่าสาวๆ ยุค ‘50s ต้องขวนขวายพยายามเพื่อสวยตามนิยามความงามในสมัยนั้น เสื้อผ้าล้วนตอบโจทย์แต่ “พิมพ์นิยม” เพราะเทคโนโลยีเองก็ยังไม่ก้าวหน้าพอจะผลิตในจำนวนมากหรือเปิดโอกาสให้กับความงามอันหลากหลายแบบในปัจจุบัน ผู้หญิงกับความสวยเป็นของคู่กันเสมอนั้นเป็นความจริง แต่บางครั้งผู้หญิงก็ต้องมีตัวช่วยเพื่อเปิดมิติใหม่เรื่องแฟชั่นและความสวยงามโดยไม่ยึดแต่กรอบเดิมๆ ดีไซเนอร์มือฉมังจึงกลายเป็นอัศวินขี่ม้าขาวรังสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยมเพื่อเปิดทางแฟชั่นสู่ยุคการเปลี่ยนแปลง และนี่ทำให้ชื่อของผู้ก่อตั้งแบรนด์ Givenchy อย่าง Hubert de Givenchy ปรากฏขึ้นในประวัติศาสตร์แฟชั่นอีกครั้ง

แฟชั่นช่วงทศวรรษ 1950 ที่มีการเน้นความคอดเรียวของช่วงเอวอย่างมาก / ภาพ: Advanced Photographic Practice

     ช่วงยุค ‘50s เป็นที่รู้กันดีว่าใครเป็นสาวสวยแห่งยุคต้องมีรูปร่างเพรียวเข้ารูปเป็นนาฬิกาทราย โดยเฉพาะช่วงเอวที่สำคัญมากคือต้องคอดเรียว ซึ่งเสื้อผ้าก็ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์นิยามความงามว่าสิ่งนี้ถูกต้องตามสมัยนิยมด้วยชุดซิลูเอตเข้าเอวให้คอดเหลือนิดเดียว กลายเป็นว่าผู้หญิงเอวเล็กเอวคอดเท่าใดยิ่งสวยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นชุดเดรส กระโปรง หรือแม้แต่กางเกงยังต้องมีการเข้าเอวหรือรัดเอว เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยที่เราแทบไม่เห็นเสื้อผ้าตัวโคร่งใส่สบาย หรือขนาดโอเวอร์ไซส์ เราจะเห็นแต่หญิงสาวกรีดกรายอวดโฉมงามในชุดรัดรูปที่ทั้งเย้ายวนและดูแข็งแกร่งจากการใช้ซิลูเอตเล่นกับสายตา แต่เดี๋ยวก่อนอูแบร์ไม่ใช่คนตามกฎเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาเองก็รู้ว่าเขามีฝีมือและพลังอำนาจทางศิลปะพอจะเซตเทรนด์ของตนเองได้ จุดเริ่มต้นความขบถของแบรนด์ต่อแฟชั่นยุคนั้นก็เริ่มขึ้นอย่างน่าสนใจด้วยฝีมือการผลิตผลงานของตำนานดีไซเนอร์

Sack Dress ในปี 1957 ที่สร้างความฮือฮาได้โดยฝีมือของ Hubert de Givenchy / ภาพ: The Art of Dress

     จำความทรมานด้านความสวยงามของหญิงสาวยุคเก่ากันได้ไหม โครงสร้างแข็งเคลื่อนตัวยาก มีการจำกัดพื้นที่ระหว่างสัดส่วนจนแทบกรอบร่างกายให้เป็นดั่งหุ่นจำลองคือแฟชั่นที่กรอบให้สตรีเดินตามมาเป็นเวลานาน อูแบร์ลุกขึ้นมาพร้อมป่าวประกาศผ่านงานศิลปะเครื่องแต่งกายโดยไม่ต้องออกเสียงว่า “นี่คือแฟชั่นของผู้หญิงยุคใหม่(ในขณะนั้น)” รูปแบบของชุดที่เรียกว่า “Sack Dress” ในซิลูเอตแบบสดใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะวิวัฒนาการการมองความงามของเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์ชิ้นล่าสุด ชุดนี้ถูกปล่อยออกมาอย่างเป็นทางการทั้งจากห้องเสื้อ Balenciaga โดย Cristóbal Balenciaga และห้องเสื้อของอูแบร์เองที่มีการปรับให้รูปทรงแบบไร้ฟอร์มให้เสื้อผ้าหลวมสบายยิ่งกว่าเดิมในปี 1957  มันโดดเด่นถึงขนาดเดินไปทางไหนคนก็ต้องหันมองเพราะชุดนี้ถือเป็นความแปลกใหม่ของแฟชั่นยุคนั้นอย่างแท้จริง “มันเป็นยิ่งกว่าแฟชั่น มันคือวิถีทางการแต่งกาย” Anita Loos นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันกล่าวไว้ในโว้กอเมริกาปีเดียวกัน



WATCH




Baby Doll Dress ยุคเริ่มแรกจาก Givenchy / ภาพ: Courtesy of Givenchy

     จุดเริ่มต้นของการปลดแอกเริ่มขึ้น! หลังจากชุดเดรสไร้ฟอร์มเกิดขึ้นในปี 1957 ปีต่อมาอูแบร์ได้รับแรงบันดาลใจจากคริสโตบัลอีกครั้ง... ครั้งนี้ไม่ใช่ชุดเดรสฟรีฟอร์มแต่เป็น “Baby Doll Dress” ชุดตุ๊กตาตัวจิ๋วนี้พิเศษมากๆ เพราะถือเป็นการฉีกกฎเกณฑ์เรื่องเสื้อผ้าสำหรับสุภาพสตรียุคนั้นจนแตกกระจาย ถ้าตั้งคำถามว่าทำไมก็สามารถตอบได้ทันทีว่าเลเยอร์ชั้นแล้วชั้นเล่า ความหนาของเสื้อผ้า ความยุ่งเหยิงในการสวมใส่รวมถึงขยับตัวและอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตถูกลดทอนออกจนแทบไม่เหลือในชุดเบบี้ดอลล์ คือชุดนี้ทั้งเบาสบาย สวมใส่ได้หลากหลายโอกาส และที่สำคัญสามารถขยับตัวได้อย่างคล่องแคล่วซึ่งชุดเดรสสมัยนั้นยากจะทำได้

Riccardo Tisci เคยนำ Baby Doll Dress กลับมาทำใหม่อีกครั้งในคอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ปี 2015 ของ Givenchy / ภาพ: Vogue US

     ชุดเดรสเบบี้ดอลล์ถือเป็นการทำลายกรอบการแต่งกายของสตรียุคเก่าทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง ถ้าสตรีทนความทรมานจากความสวยงามเปรียบเป็นเหยื่อแฟชั่นในคุก อูแบร์ก็เปรียบเสมือนซูเปอร์ฮีโร่มาปลดปล่อยพวกเธอออกจากห้องขังนี้ด้วยการสรรสร้างสไตล์อันโดดเด่น เชื่อไหมว่าความสบายเหล่านี้กลายมาเป็นตำรับความคิดเรื่องแฟชั่นของสุภาพสตรียุคต่อมาที่ความสะดวกสบายถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประดับความสวยงามเข้ากับร่างกายตนเอง

เสื้อโค้ตซิลูเอตโป่งพองเหมือนกับบอลลูน / ภาพ: The Red List

     แต่เบบี้ดอลล์อาจไม่เหมาะสำหรับฤดูหนาว อูแบร์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ ปี 1958 ปีเดียวกับการปล่อยชุดเดรสเบบี้ดอลล์ ชื่อเสื้อโค้ตแบบใหม่ปรากฏขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกาย “Balloon Coat” เสื้อโค้ตตัวป่องรูปร่างประหลาดมากในสมัยนั้นแต่กลับกลายเป็นชุดตำนานที่ใครศึกษาแฟชั่นต้องรู้จัก อย่างที่กล่าวไปว่าสมัยก่อนซิลูเอตของชุดมีการเน้นรูปร่างของสตรีเป็นส่วนมากไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบใดแฟชั่นบ่งบอกว่าแฟชั่นวิ่งตามนิยามความงามอยู่เสมอ แต่อูแบร์มิได้คิดเช่นนั้น เขาต้องการผลักดันให้แฟชั่นเซตเทรนด์ความงามของเสื้อผ้าอาภรณ์มากกว่าแค่นำเสนอร่างกายของหญิงสาวที่แท้จริงแล้วพวกเธอมีสิทธิ์จะมีรูปร่างแบบใดก็ได้โดยไม่โดนตราหน้า บอลลูนโค้ตจึงไม่ใช่แค่เสื้อกันหนาวแต่มันคือสัญญะทางสังคมและการเมือง

เสื้อโค้ตซิลูเอตบอลลูนที่เปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์แฟชั่น / ภาพ: Courtesy of Givenchy

      เสื้อโค้ตรูปบอลลูนนั้นมีลักษณะไหล่ลาดเอียงไปกับโครงสร้างของสุภาพสตรี ซิลูเอตพองกว้าง และความยาวจรดเข่า ซึ่งทุกองค์ประกอบกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แฟชั่นในทศวรรษต่อมา ความยอดเยี่ยมของบอลลูนโค้ตจึงมีความสำคัญต่อโลกแฟชั่นมาก เพราะไอเท็มชิ้นนี้คือการเปลี่ยนแปลงทั้งมุมมองด้านแฟชั่น มุมมองความงาม และมุมมองทางสังคม ความฝันของอูแบร์ที่จะรังสรรค์โลกใบใหม่ให้ผู้หญิงโดยใช้แฟชั่นสำเร็จตามความตั้งใจ การปลดแอกเพื่อสตรีไม่ตกอยู่ในกรอบเก่าอีกต่อไป นับตั้งแต่วันนั้นแฟชั่นของทั้งหญิงและชายมีทางเลือกมากขึ้น ความโป่งพองและเรียบง่ายในชิ้นงานของอูแบร์จึงเปรียบเสมือนลูกโป่งที่พองขึ้นด้วยแก๊สแห่งความสุขของเหล่าผู้หลงใหลในการแต่งกาย ถึงแม้ซิลูเอตความสุดโต่งและพื้นฐานงานออกแบบเหล่านี้จะไม่ได้ปรากฏเด่นชัดในแฟชั่นยุคปัจจุบันมากนัก แต่องค์ประกอบเหล่านี้ยังคงสอดแทรกอยู่ในเสื้อผ้าอาภรณ์สมัยใหม่อย่างไม่เสื่อมคลาย เทรนด์อยู่เพียงประเดี๋ยวก็หายไป แต่ผลผลิตจากความฝันอันยิ่งใหญ่ของอูแบร์อยู่ในหน้าบันทึกแฟชั่นในทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่ผลงานเหล่านี้กำเนิดขึ้นมา เนื่องในโอกาสการจากไปครบ 2 ปี (10 มีนาคม) โว้กขอร่วมไว้อาลัยอย่างสุดซึ้งแด่ตำนานผู้ล่วงลับ “อูแบร์ เดอ จีวองชี่”

 

ข้อมูล: The Art of Dress, Givenchy, CR Fashion Book, William George, Kvadrat Interwoven, Fifties Fashion After the "New Look" และ Vogue US

WATCH