FASHION

ซีซั่นๆๆ เรียกกันติดปาก สรุปแล้วซีซั่นคืออะไร ไม่ใช่แค่ฤดูกาลอย่างที่คิด

#Fashion101 บทความที่เจาะลึกเรื่องฤดูแฟชั่นโดยเฉพาะ แล้วหลังจากนี้คุณจะเข้าใจความหมายของ “ซีซั่น” มากกว่าที่คิด

Highlight

- “ซีซั่น” หรือ “ฤดูกาล” ในอุตสาหกรรมแฟชั่นแบ่งเป็น 2 ฤดูกาลหลักคือ Spring/Summer และ Autumn/Winter หรือ Fall/Winter

- นอกจากซีซั่นหลักแล้วยังมีซีซั่นคั่นเวลาปีละ 2 ครั้งคือ Pre-Spring และ Pre-Fall

- Pre-Spring มีชื่อเรียกอีก 2 แบบที่รู้จักเป็นสากลคือ Cruise และ Resort แล้วแต่แบรนด์จะกำหนด

- Chanel เป็นแฟชั่นเฮาส์รายบุกเบิกที่เริ่มทำคอลเล็กชั่นคั่นฤดูกาลสำหรับช่วงวันหยุดพักผ่อน

- Burberry เป็นแบรนด์เดียวที่เรียกชื่อคอลเล็กชั่นตามเดือนที่เปิดตัว

- ปัจจุบันมีหลายแบรนด์ที่ไม่ยึดการทำงานตามซีซั่นอีกต่อไป แต่เลือกที่จะสร้างปฏิทินแฟชั่นและไทม์ไลน์การทำงานเป็นของตัวเอง

-------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

“ซีซั่นๆๆๆๆ” เรียกกันติดปาก “ซีซั่นนี้อันไหนมาซีซั่นหน้าอันไหนโดน” คำว่า “ซีซั่น” หรือที่แปลเป็นไทยว่า “ฤดูกาล” นั้นดูเหมือนจะเป็นคำศัพท์พื้นฐานที่ท่องกันได้คล่องตั้งแต่อนุบาลแล้ว แต่เมื่อเราพูดถึงซีซั่นในบริบทของแฟชั่นและสำรวจดูให้ดีกลับพบว่ายังมีคนอีกมากที่ไม่เข้าใจตื้นลึกหนาบางของมัน ฤดูกาลในโลกแฟชั่นแตกต่างจากฤดูกาลปกติหรือไม่ สรุปแล้วแบ่งเป็นกี่ฤดู รวมถึงเรามีซีซั่นไว้เพื่ออะไรกันแน่ นี่คือบทความที่เจาะลึกเรื่องฤดูแฟชั่นโดยเฉพาะ แล้วหลังจากนี้คุณจะเข้าใจความหมายของ “ซีซั่น” มากกว่าที่คิด

 

“ซีซั่น” หรือฤดูกาลในอุตสาหกรรมแฟชั่นคือการใช้เส้นแบ่งทางเวลาเป็นตัวกำหนดทิศทางของคอลเล็กชั่นและการวางจำหน่าย เป็นที่ยอมรับในระดับสากลจนกลายเป็นมาตรฐานการทำงานของดีไซเนอร์ทั่วโลก เหตุผลที่ต้องมีซีซั่นก็คิดตามหลักง่ายๆ ว่ามนุษย์เราปรับเปลี่ยนลักษณะการแต่งตัวไปตามสภาพอากาศ การเลือกสวมเสื้อผ้าในหน้าร้อนและหน้าหนาวย่อมแตกต่างกันไป แน่นอนว่าแบรนด์แฟชั่นในฐานะผู้ประกอบการย่อมแปรผันไปตามผู้บริโภค พวกเขาออกแบบเสื้อผ้าเพื่อตอบโจทย์ตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละฤดูกาล การแบ่งซีซั่นจึงเริ่มขึ้นจากหลักการง่ายๆ ที่ว่า “ร้อนใส่บาง หนาวใส่หนา” จนเกิดเป็น 2 ฤดูกาลหลักคือ Spring/Summer (ฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน) และ  Autumn/Winter หรือ Fall/Winter (ฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว)

 

สีโทนอุ่นแนวธรรมชาติคือโทนสีที่มาแรงแบบคาดการณ์ได้ในทุกฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูหนาว (ภาพจากซ้ายไปขวา: Max Mara, Balenciaga, Monse และ Dior ทั้งหมดจากคอลเล็กชั่น Autumn/Winter 2018)

 

2 ซีซั่นหลักนี้กลายเป็นบรรทัดฐานของปฏิทินแฟชั่นหรือไทม์ไลน์การทำงานสากลของดีไซเนอร์ทั่วโลกคือแต่ละปีดีไซเนอร์จะส่ง 2 คอลเล็กชั่นหลักตามชื่อของซีซั่น โดยนับตามช่วงเวลาการวางจำหน่ายหน้าร้านคือ Spring/Summer วางจำหน่ายตั้งแต่กุมภาพันธ์-มิถุนายน และ Autumn/Winter วางจำหน่ายตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม ตามฤดูกาลโลก แต่ถึงกระนั้นแฟชั่นโชว์เผยโฉมแต่ละคอลเล็กชั่นจะถูกจัดขึ้นล่วงหน้าก่อนวางขายจริงราวๆ 6 เดือน นั่นหมายความว่าดีไซเนอร์ต้องทำงานล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปีก่อนถึงฤดูกาลจริง เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณจึงเห็นโว้กรายงานโชว์คอลเล็กชั่น Spring 2019 จากแฟชั่นวีกเมืองต่างๆ ตั้งแต่กลางปี 2018 แล้ว อย่างงหากคุยกับคนแฟชั่นแล้วพวกเขาสนทนาราวกับว่าตัวเองทำงานอยู่ในอนาคต เหตุเพราะทุกคนดำเนินชีวิตตามเข็มนาฬิกาแฟชั่นโชว์ซึ่งล่วงหน้ากว่าชาวบ้าน

 

ลักษณะเด่นของเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นฤดูร้อนคือสีสันสดใสและเนื้อผ้าบางพลิ้ว

 

ตามลักษณะสภาพอากาศและอารมณ์ของผู้คนในช่วงซัมเมอร์ แฟชั่นในซีซั่น Spring/Summer จึงเต็มไปด้วยสีสันสดใส ลายพิมพ์รูปดอกไม้และคัลเลอร์บล็อกเป็นเทรนด์ที่มาแรงของทุกซัมเมอร์แบบนอนมา ส่วนเครื่องประดับก็มักจะหยิบเอาวัสดุธรรมชาติ เช่น ไผ่ หิน ไปจนถึงฟางมาผสมผสาน เพราะนี่คือฤดูกาลแห่งสายลม แสงแดด และหาดทราย ดีไซเนอร์จึงมักหยิบคอนเซปต์ใกล้ชิดธรรมชาติมาใช้ประจำ ส่วนฤดูกาลแห่งความหนาวเหน็บอย่าง Autumn/Winter สีโทนอุ่นถูกหยิบมาใช้คลายหนาว สีโมโนโครมและเอิร์ธโทนจึงเป็นพระเอกของฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาวมานาน จนหลายๆ ครั้งเหล่าดีไซเนอร์เลือกที่จะพากันหลบหลีกสีของตายในแต่ละซีซั่นเพื่อสลัดความคาดเดาได้นี้ทิ้งเสีย ซึ่งไม่มีผิดหรือถูกมีแต่ขายได้กับไม่ได้ซึ่งเป็นข้อสำคัญยิ่งกว่า

 

 เหล่าแอ็กเซสเซอรี่จากวัสดุธรรมชาติครองรันเวย์ทุกครั้งในช่วงซัมเมอร์ (ภาพจากซ้ายไปขวา: Miu Miu, Missoni และ Miu Miu ทั้งหมดจากคอลเล็กชั่น Spring/Summer 2018)

 

การแบ่งฤดูแฟชั่นออกเป็น 2 ซีซั่นหมายความว่าในแต่ละปีโลกแฟชั่นจะคึกคักกันเพียง 2 ครั้งใหญ่ๆ เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมขนาดยักษ์ที่มีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐทั่วโลก ซีซั่นคั่นเวลาจึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีจุดเริ่มต้นจากไลฟ์สไตล์ของเหล่าเศรษฐีและกลุ่มชนชั้นสูงที่นอกจากจะมีเงินเหลือเฟือแล้วยังมีอิสระทางเวลา สามารถออกเดินทางท่องเที่ยวแบบมหาราชาได้ปีละ 2 ครั้งขึ้นไป คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าสำหรับวันหยุดพักผ่อนจึงเป็นที่ต้องการไม่แพ้ฤดูกาลหลัก ซีซั่นคั่นเวลาอย่าง Cruise หรือ Resort หรือ Pre-Spring (สามารถเรียกชื่อใดก็ได้ขึ้นอยู่กับแบรนด์จะกำหนด) จึงกลายเป็นอีกหนึ่งคอลเล็กชั่นที่ทำเงินมหาศาล บุกเบิกโดยมาดมัวแซล โกโก้ ชาแนล ซึ่งเป็นดีไซเนอร์รายแรกๆ ที่คิดทำคอลเล็กชั่นครูสอย่างจริงจัง อ้างอิงจากผลงานการออกแบบแนวครูสฉบับปฐมฤกษ์จากช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1919 ที่มาดมัวแซลชาแนลเปิดประเดิมวงการ ตามมาด้วย Lilly Pulitzer, Ralph Lauren, Tommy Bahama และลามถึงดีไซเนอร์รายอื่นๆ ทั่วโลก โดยวางขายช่วงรอยต่อระหว่าง Autumn/Winter ก่อนจะถึง Spring/Summer เป็นเวลาสั้นๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ส่วนคาแร็กเตอร์ของเสื้อผ้าในซีซั่นนี้ขอให้ลองหลับตานึกภาพเหล่ามหาเศรษฐีในลุคแคชชวลชิกสไตล์รีสอร์ทบนเรือครูสลำหรูนี่แหละใช่เลย!

 

โชว์คอลเล็กชั่น Cruise 2018/19 จาก Chanel แบรนด์ผู้บุกเบิกคอลเล็กชั่นคั่นฤดูกาลที่พาผู้ชมหวนคืน La Pausa บ้านแสนรักในดินแดนชายฝั่งของมาดมัวแซลอีกครั้งเพื่อทวงคืนบัลลังก์คอลเล็กชั่นครูส โดยเนรมิตเรือสำราญลำยักษ์ในนามเดียวกันไว้กลาง Grand Palais ในกรุงปารีส

 

เทรนด์ของฤดูกาล Resort 2019 โดยโว้กอเมริกา / ภาพ: Vogue.com

 

มี Pre-Spring ก็ต้องมี Pre-Fall อีกหนึ่งซีซั่นคั่นเวลาในช่วงรอยต่อระหว่าง Spring/Summer ก่อนจะถึง Fall/Winter ซึ่งจะวางจำหน่ายตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม คาแร็กเตอร์ของเสื้อผ้าในซีซั่นนี้แปรผันตามสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากร้อนสู่หนาว อากาศที่เย็นขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ถึงกับยะเยือกทำให้เหล่าเทรนช์โค้ตปรากฏตัวมากที่สุดในช่วงนี้ ซิลูเอตของเสื้อผ้าส่วนใหญ่ยังพลิ้วไหวต่อเนื่องจากซัมเมอร์แต่เพิ่มเติมคืออุ่นขึ้นอีกนิดด้วยวัสดุชนิดหนา ดีไซน์ส่วนใหญ่ในช่วง Pre-Fall จะเน้น “สวยขายได้” เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนเพื่อกระตุ้นยอดขายช่วงกลางปี ในขณะที่ Pre-Spring มีชื่อเรียกสารพัดแต่ Pre-Fall กลับได้รับขนานนามเป็นสากลเพียงชื่อเดียวเท่านั้น มีเพียงแฟชั่นเฮาส์เพชรยอดมงกุฎอย่าง Chanel เพียงรายเดียวที่บัญญัติชื่อเรียกคอลเล็กชั่น Pre-Fall เป็นของตัวเองโดยเฉพาะว่า Métiers d'Art เพื่อเชิดชูงานฝีมือชั้นครูโดยอาร์ติซานชั้นยอดซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของแบรนด์มาอย่างยาวนาน

 

ทุกซีซั่น Pre-Fall ดีไซเนอร์มักนำเสนอผลงานที่สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน ดีไซน์เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนและไม่มีนัยแฝง เพื่อกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะ (ภาพจากซ้ายไปขวา: Chloé, Hermès และ Alexander McQueen ทั้งหมดจากคอลเล็กชั่น Pre-Fall 2018)

 

แฟชั่นโชว์ Chanel คอลเล็กชั่น Métiers d'Art หรือ Pre-Fall 2018 อุทิศเพื่องานปักและงานฝีมือชั้นยอดโดยช่างฝีมือพันธมิตร ซีซั่นนี้นำแรงบันดาลใจมาจากเมืองฮัมบูร์กบ้านเกิดของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์

 

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าในบริบทของแฟชั่นคำว่า “ซีซั่น” และ “คอลเล็กชั่น” มีความหมายทับซ้อนกันไปมาและแปรผันตามกันเป็นเงาตามตัว นอกเหนือไปจากคอลเล็กชั่นเรดี้ทูแวร์ที่ออกปีละ 4 ครั้งตามปฏิทินแฟชั่นแล้ว ฝั่งแฟชั่นเฮาส์โดยกูตูริเยร์ฝั่งฝรั่งเศสยังมีคอลเล็กชั่นพิเศษเพิ่มอีกปีละ 2 ครั้งคือ Haute Couture (โอต์ กูตูร์) ประจำซีซั่น Spring/Summer และ Fall/Winter คอลเล็กชั่นโชว์งานฝีมือระดับพระกาฬและความซับซ้อนของการตัดเย็บระดับตาหลุดทั้งคนดูและคนปัก โดยมีแฟชั่นเฮาส์เพียง 15 แห่งเท่านั้นที่ได้รับรองอย่างเป็นทางการ  ส่วนฟากแบรนด์สัญชาติอังกฤษอย่าง Burberry กลับเลือกนำเสนอคอลเล็กชั่นตามชื่อเดือนที่เปิดตัว เช่น February Collection ซึ่งก็คือ Spring/Summer เป็นต้น โดยวางตัวเป็นเจ้าบุกเบิกการจัดโชว์แบบ See-Now, Buy-Now ซึ่งจับกระแสความเร็วของโลกยุคดิจิทัลด้วยการจัดโชว์ตามฤดูวางขายแทนที่จะโชว์ล่วงหน้าครึ่งปีตามประเพณี ก่อนที่หลายแบรนด์จะเลียนแบบกันเป็นขบวนแต่สุดท้ายก็พากันเจ็ตแล็กจากเวลาแฟชั่นที่รวนจนต้องทยอยกลับไปทำตามขนบเดิม ทิ้งไว้เพียงผู้บุกเบิกอย่าง Burberry ให้กินรวบตำแหน่งแบรนด์แฟชั่นผู้นำด้านดิจิทัลไปครอง

 

 

ส่วนฟากแบรนด์ Fast-Fashion ทั้งหลายที่ไล่ชื่อมาคนค่อนประเทศก็มีในตู้ไม่ต่ำกว่าครึ่งโหลอย่าง Zara, H&M, Mango ไปจนถึง Uniqlo ที่เราเห็นเปิดตัวคอลเล็กชั่น Spring/Summer และ Fall/Winter กันทุกปีไม่ต่างจากแบรนด์อื่นๆ นั้นแม้จะทำคอลเล็กชั่นตามซีซั่นแต่เมื่อวางจำหน่ายจริงเรากลับพบกว่าคอลเล็กชั่นที่ว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และมีการเติมแบบใหม่เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องแคร์ปฏิทินแฟชั่นแต่อย่างใด แม้ซีซั่นในอุตสาหกรรมแฟชั่นตามหลักสากลจะแบ่งเป็นฤดูกาลหลักหรือคั่นเวลาสักกี่ซีซั่นก็ตามแต่ สุดท้ายแล้วการจะทำงานในรูปแบบไหนนั้นย่อมเป็นอิสระของดีไซเนอร์แต่ละคนที่จะเลือกนำเสนอผลงานในรูปแบบหรือชื่อเรียกใด

 

เรื่อง: ปภัสรา นัฏสถาพร

ออกแบบภาพ: ไพรำ ด่านจิตร์ตรง

ภาพ: Indigital.tv

 

WATCH

คีย์เวิร์ด: Fashion Feature 101 Fashion101 Seasons Did you know