FASHION

เปิดเหตุผลว่าทำไมพนักงานขายในร้านระดับไฮเอนด์ถึงถูกเรียกว่า 'Fashion Advisor'

ทำไมถึงต้องเรียกว่า Fashion Assistant หรืออาชีพพนักงานขายในร้านที่ใครๆ ก็เรียกกัน วันนี้เรามีคำตอบ

     วันหนึ่งถ้าสาวๆ อยากช็อปปิ้งแบรนด์ระดับไฮเอนด์ไม่ว่าจะเป็น Chanel, Hermès, Louis Vuitton, Gucci และอื่นๆ อีกมากมายอาจจะสงสัยว่าพนักงานที่คอยต้อนรับและดูแลเราตลอดการช่วงเวลาภายในร้านนั้นมีตำแหน่งหน้าที่อะไรกันแน่ วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันคร่าวๆ ว่าผู้ให้บริการดังกล่าวเรียกว่าอะไรและพวกเขาสำคัญอย่างไรกับอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับไฮเอนด์

บรรยากาศหน้าร้าน Chanel ในฮ่องกงที่เหล่าลูกค้าต่อติวรอเข้าร้านและจะพบกัน Fashion Assistant / ภาพ: Llau Chung-Ren-Reuters

     ‘Fashion Advisor’ คือหน้าที่ตำแหน่งที่เรากำลังพูดถึง หลายคนอาจจะเรียกเขาว่าเซลล์หรือว่าพนักงานขาย แต่ตำแหน่งนี้มีอะไรมากกว่านั้น เริ่มแรกเราต้องรู้ก่อนว่าตำแหน่งนี้หรือที่ในวงการเรียกกันว่า FA นั้นมีรากฐานอย่างไรบ้าง อย่างแรกพวกเขาต้องเข้าใจในทิศทางของแบรนด์พร้อมด้วยข้อมูลที่อัดแน่นของสินค้าภายในร้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่ตนดูแลเป็นพิเศษ ความสามารถในการสื่อสารทั้งภาษาท้องถิ่นประเทศนั้นๆ และภาษาสากลเพื่อสื่อสารกับลูกค้าแบรนด์ระดับไฮเอนด์ซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก ความรู้ในด้านแฟชั่นก็ต้องไม่ขาดตกบกพร่อง เข้าใจทิศทางของเทรนด์ มีการทำงานเป็นทีมเพื่อนำเสนอตัวตนความเป็นแบรนด์ไม่ใช่แค่ปัจเจกบุคคล และที่สำคัญต้องหาจุดเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของลูกค้า แบรนด์และโลกแฟชั่นให้ได้อย่างลงตัว

ตำแหน่ง Fashion Assistant ของ Louis Vuitton ในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย / ภาพ: Pursuitist

     หน้าที่แท้จริงแล้วของพวกเขาก็คือการบริการและอำนวยความสะดวกลูกค้าทุกคนที่เข้ามาในร้านให้ถึงที่สุด ทั้งนำเสนอสินค้าชิ้นใหม่ ข้อมูลเชิงลึกประกอบกับตัวเลือกในการตัดสินใจต่างๆ เมื่อเราเข้าร้านไฮเอนด์สักร้านหนึ่งจะมีการประสานกันประมาณว่า “ขอ FA 1 คน” จากพนักงานต้อนรับหน้าร้านเสมอ หลังจากนั้นหน้าที่การดูแลจากหน้าร้านก็ส่งมาถึง FA นั่นเอง นับจากนี้เราก็เหมือนเดินเข้าสู่โลกของแบรนด์นั้นๆ โดยมีพนักงานเหล่านี้เปรียบเสมือนตัวแทนเจ้าของบ้านคอยต้อนรับและดูแลเราอย่างดี แต่มันก็ยังฟังดูเหมือนพนักงานบริการทั่วไป ฉะนั้นในย่อหน้าต่อไปเราจะพูดถึงความพิเศษนอกเหนือจากหน้าที่ทั่วไปของผู้ช่วยด้านแฟชั่น



WATCH




พนักงานของแบรนด์ Hermès ขณะกำลังดูแลลูกค้า / ภาพ: Bloomberg

     ผู้ให้คำแนะนำด้านแฟชั่นชื่อนี้ทำให้หน้าที่มันแตกต่างจากผู้ช่วยแขนงอื่น ชื่อก็บอกแล้วว่าด้านแฟชั่น ฉะนั้นพนักงานเหล่านี้จะต้องดูแลลูกค้าด้วยการนำเสนอเกี่ยวกับแบรนด์ ไม่ใช่มีหน้าที่ขายอย่างเดียวแต่หมายถึงการช่วยสไตลิ่ง แนะนำความเหมาะสมของสี ปรับลุค พูดถึงสไตล์และความเหมาะสมของไอเท็มแต่ละชิ้นที่ลูกค้าสนใจ แต่ถ้าเหล่าลูกค้าไม่มีธงในใจ พวกเขาก็ถามเกี่ยวกับตัวลูกค้าเพื่อหาคีย์เวิร์ดมาเป็นกุญแจไขว่าผู้ที่เดินเข้ามาในร้านจะสนใจไอเท็มแนวไหนเป็นพิเศษ ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าเหล่าพนักงานจะดูเหมือนรู้ใจเราเป็นส่วนใหญ่นั่นก็เพราะความพิเศษของหน้าที่เขานั่นเอง

พนักงานในร้าน Salvatore Ferragamo ขณะกำลังดูแลรักษาสินค้าภายในร้านอย่างดี / ภาพ: Financial Times

     ผู้ช่วยด้านแฟชั่นในร้านนั้นทำไมถึงสำคัญกับอุตสาหกรรมแฟชั่นนัก เริ่มแรกเลยด้วยปัจจัยความเป็นลูกค้านี่เหมือนเป็นตัวแทนของแบรนด์ดูแลแขกคนสำคัญผู้ใช้เงินจำนวนมากจับจ่ายไอเท็มชิ้นโปรดจากแบรนด์ไป แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าถึงแม้จะซื้อได้แต่ความมั่นใจและคำแนะนำมันหาไม่ง่าย นี่คือจุดสำคัญของตำแหน่งนี้ ไม่ใช่ทุกคนจะมีหุ่นสวย หน้าเป๊ะ ผิวเนียนดั่งนางแบบในแคมเปญของแบรนด์ที่ใส่อะไรถืออะไรก็ดูสวยงามไปหมด เหล่าผู้ช่วยด้านแฟชั่นคือผู้ที่จะผสมผสานตัวตนของลูกค้าคนสำคัญเข้ากับสิ่งของในร้านที่จะทำให้ลุคออกมาเหมาะราวกับสร้างมาคู่กัน ให้อารมณ์เหมือนสไตลิสต์ประจำตัวของลูกค้า ยิ่งเลือกให้ถูกใจยิ่งสร้างความมั่นใจ ผู้มีทุนทรัพย์ก็จะติดใจกับทั้งตัวบุคคลและแบรนด์ พวกเขาจะไม่ลังเลที่จะกลับมาหาสไตลิสต์ประจำตัวภายในร้านเพื่อช็อปปิ้งไอเท็มชิ้นใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคต

ภาพ: Bloomberg

     รู้สต็อกของ ความต้องการของตลาด ความเป็นมาเป็นมาของกระแสโลกและกระแสไอเท็มภายในแบรนด์ อะไรกำลังแรง อะไรเหมาะกับคนแบบไหน พวกเขาจะไม่ใช่เซลล์ที่มุ่งเน้นว่าทุกสิ่งสวยงามเหมาะกับลูกค้าทุกคน แต่ผู้ให้คำแนะนำด้านแฟชั่นคือผู้สร้างความประทับใจและเชื่อใจว่าสิ่งที่พวกเขาหยิบจับมาสวมบนตัวสาวๆ หนุ่มๆ ผู้เดินเข้าออกร้านในแต่ละวันคือสิ่งที่ดีที่สุดกับบุคคลนั้นๆ เสมอ ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยที่เมื่อคนเยอะต้องยืนรอหน้าร้านเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการดูแลลูกค้าให้ได้รับประสบการณ์ดีที่สุดเท่าที่พนักงานคนหนึ่งจะทำได้ และนี่คือ ‘FASHION ADVISOR’

WATCH