FASHION

หาชมยากมาก! เปิดคลังมรดกล้ำค่ากว่า 9,840 ชิ้นของ Dior ที่ต้องดูก่อนตาย

ห้ามพลาด! ในยุคที่นิยามของความลักชัวรีอวตารแตกเป็นหลากหลายรูปแบบ และความงามหรูดูจะห่างไกลจากชีวิตประจำวัน Dior จึงขอเปิดโชว์คลังยิ่งใหญ่เพื่อตอกย้ำกับเราว่า...รอยต่อของความฝันนั้นชิดใกล้กันกับความเป็นจริง

HIGHLIGHTS!

 

  • นิทรรศการ Christian Dior: Designer of Dreams จัดแสดงคลังสะสมของ Dior รวบรวมเอามรดกล้ำค่า และผลงานที่คัดสรรจาก 9,840 ชิ้นในคลังให้คนทั่วไปมีโอกาสได้เข้าชม ซึ่งถือเป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง
  • นิทรรศการจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ Les Arts Décoratifs จุดยุทธศาสตร์เดิมก่อนย้ายไปที่สำนักงานใหญ่บนถนนมงแตญ
  • โดดเด่นที่การรวบรวมผลงานของดีไซเนอร์คนอื่นๆ ที่แฟชั่นเฮาส์แห่งนี้ไว้ด้วย ไม่เพียงงานของผู้ก่อตั้งเหมือนครั้งที่ผ่านมา
  • นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของห้องเสื้อ Dior ตั้งแต่ไทม์ไลน์ชีวิตของเมอซีเยอคนดัง จนถึงผลงานกูตูร์ของดีไซเนอร์ผู้รับช่วงต่อ

 

 ________________________________________

 

แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลธรรมดาทั่วไปจะมีโอกาสสัมผัสกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งแรงบันดาลใจของแบรนด์ยิ่งใหญ่สัญชาติฝรั่งเศสนาม Dior ซึ่งถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบของ “คลังสะสม” เพื่อสงวนไว้สำหรับนักออกแบบและทีมงานเท่านั้น แผนกนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 วาระที่ห้องเสื้อครบรอบ 40 ปีพอดิบพอดี ก่อนปรับชื่อใหม่ให้เข้าคู่ความขลังในภายหลังว่า Dior Heritage (มรดกแห่งดิออร์) และโยกย้ายฐานที่ตั้งมาประจำมั่นอยู่ไม่ไกลจากสำนักงานใหญ่บนถนนมงแตญอันลือลั่น พร้อมๆ กับการริเริ่มจัดแสดงนิทรรศการใหญ่ของตนในปีเดียวกันนั้นเอง

 

 

 

“ชื่อของ Dior Heritage สื่อถึงสรรพสิ่งอันงดงามซึ่งเราเลือกแล้วที่จะเก็บคงคลังไว้...แต่อีกนัยหนึ่งก็สื่อถึงอนาคต” Soizic Pfaff หัวหน้าแผนกคนสำคัญกล่าว ตอนนี้คอลเล็กชั่นผลงานคัดสรรจากจำนวนทั้งสิ้น 9,840 ชิ้นในคลังจึงได้รับเกียรติให้กลับมาโพสท่าสง่างามอยู่ในนิทรรศการมโหฬารที่ประทับชื่อไว้อย่างเข้าใจสถานการณ์ว่า Christian Dior: Designer of Dreams ในวันที่แบรนด์หรูก้าวสู่ปีที่ 70

 

 

โชว์เคสยิ่งใหญ่ตระการตาในห้อง The Dior Ball ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความหลงใหลในงานราตรีหรูหราของผู้ก่อตั้งแบรนด์

 

จุดยุทธศาสตร์เดิมของนิทรรศการใหญ่ในอดีตจากปี 1987 คือพิพิธภัณฑ์ Les Arts Décoratifs ได้รับเลือกอีกครั้งเพื่อเปิดประตูต้อนรับคลื่นมหาชนเข้าสู่โถงจัดแสดงนับสิบห้องบนพื้นที่ร่วม 3,000 ตารางเมตร สิ่งที่แตกต่างอย่างเด่นชัดในรอบนี้อยู่ตรงคอลเล็กชั่นชิ้นงานหลากหลายดีไซเนอร์ผู้เข้ามาประจำการ ณ ห้องเสื้อดิออร์หลังการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของนักออกแบบผู้ก่อตั้ง ซึ่งนอกจากจะครบถ้วนกว่านิทรรศการแรกที่โฟกัสเพียงผลงานของ Christian Dior ระหว่างปี 1947 ถึง 1957 แล้ว เรายังได้ย้อนรอยอัตลักษณ์ของห้องเสื้อไปตามรอยตะเข็บเนี้ยบและเพ่งพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของแฟชั่นกับสังคมในแต่ละยุคสมัยด้วย

 

 

บอร์ดรวบรวมผลงานตลอดทั้งชีวิตของเมอซีเยอดิออร์ ไล่ตั้งแต่ภาพสเก็ตช์ไปจนถึงคอลเล็กชั่นของสะสมส่วนตัว

 

ไทม์ไลน์ชีวิตของกูตูริเยร์ชั้นครูถูกขึ้นบอร์ดต้อนรับผู้ชมอยู่ตรงประตูทางเข้า ภาพถ่ายสีจางที่บ่งบอกถึงวัยเยาว์ในตระกูลอันมั่งคั่งแปะประดับสลับไปกับจดหมายเขียนด้วยลายมือ และภาพบุคคลเขียนสีฝีมือ Paul Strecker ถึง Bernard Buffet ถัดไปไม่ไกลจากดาวนำโชคและสำรับไพ่ในกรอบพิเศษที่ตอกย้ำถึงนิสัยเชื่อถือโชคลางนับตั้งแต่หมอดูทำนายไว้ว่า “จะยากจนแต่มีดวงนารีอุปถัมภ์ และต้องขอบคุณหญิงสาวทั้งหลายผู้จะช่วยให้ประสบความสำเร็จ”

 

 ผลงานสเก็ตช์แฟชั่นและคอสตูมฝีมือเมอซีเยอดิออร์

 

 

ดาวนำโชคและสำรับไพ่ในกรอบพิเศษที่แสดงถึงนิสัยเชื่อถือโชคลางของเมอซีเยอดิออร์

 

อาจกล่าวได้ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการภาพถ่ายแฟชั่นและยุคเฟื่องฟูของการสร้างสรรค์นิตยสารในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 (ที่แน่นอนย่อมมี “โว้ก” เป็นแกนหลัก) คือเครื่องมือในการนำเสนอความงดงามของผลงานพะยี่ห้อคริสเตียน ดิออร์ โถงรูปถ่ายที่แขวนเรียงภาพระดับไอคอนิกประจำศตวรรษโดย Henry Clarke ถึง Irving Penn และ Richard Avedon พากันนำเสนอท่วงท่าการโพสที่มีเอกลักษณ์ของเหล่านางแบบ ซึ่งท่วงท่าของร่างกายของพวกเธอกลายมาเป็นแรงบันดาลใจหลักของการเต้น Voguing ในปัจจุบัน โดยมีลุคประวัติศาสตร์ของพระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรขึ้นหุ่นอยู่ใกล้ๆ กับภาพถ่ายของพระองค์ฝีมือ Cecil Beaton

 

 

โถงนิทรรศการที่โดดเด่นด้วยการผสมผสานการนำเสนอหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจัดวางชิ้นงานศิลปะและการฉายภาพบนผนัง

 

 

ภาพถ่ายของพระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร โดย Cecil Beaton

 

 

ลุคประวัติศาสตร์ของพระขนิษฐาในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 ที่ขึ้นหุ่นอยู่ใกล้ๆ กับภาพของพระองค์ในชุดเดียวกัน

 

โถงจัดแสดงนำเราเข้าสู่คอลเล็กชั่นผลงานการออกแบบแฟชั่นภายใต้แบรนด์ดิออร์ ที่เล่นกับธีมสร้างสรรค์มากด้วยจิตวิญญาณ เช่น ห้อง Colorama ซึ่งข้าวของตั้งแต่เสื้อโค้ตตัวยาว ขวดน้ำหอมแก้วเจียระไน ถึงพัดระดับซิกเนเจอร์และเครื่องศีรษะทรงแปลกตาขนาดต่างๆ ตั้งแต่เท่าของจริงจนถึงชิ้นตุ๊กตาได้รับการจัดเรียงขึ้นผนังตามกลุ่มเฉดสีไล่เรียงตามโทนอ่อนถึงเข้มอย่างตระการตาดุจดั่งสายรุ้ง สีสันอิ่มเอมไปด้วยสัมผัสทางความทรงจำและนิยามที่แตกต่างกัน  

 

 

ห้อง Colorama ที่เต็มไปด้วยข้าวของชิ้นจิ๋วถึงขนาดจริงนับพันชิ้นเรียงรายสีสันดั่งสายรุ้ง

 

ส่วนห้อง Trianon อิงรูปแบบการตกแต่งภายในมาจากห้องเสื้อต้นทางของดิออร์ จัดแสดงลุควิจิตรโทนสีพาสเทลควบคู่ไปกับเครื่องเรือนกรอบทอง ภาพสีน้ำมันโบราณ เก้าอี้บุนวม และขอบผนังฉลุลาย อาภรณ์งดงามในหมวดนี้อุทิศให้สไตล์ราชสำนักที่ขับเคลื่อนแวร์ซายในยุครุ่งโรจน์ของอาณาจักรฝรั่งเศส ซึ่งเหล่าดีไซเนอร์ประจำแบรนด์มักเลือกนำกลับมาตีความใหม่อยู่บ่อยครั้งในคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ จากนั้นนิทรรศการพาเราไปเสพวัฒนธรรมหลากถิ่นจากดินแดนไอยคุปต์กับทุ่งหญ้าสะวันนาถึงกิ่งดอกโบตั๋นของชาวจีนโบราณ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลงานแสนดรามาติกของ จอห์น กัลลิอาโน่เป็นชิ้นเด่น

 

 

ส่วน Trianon งดงามด้วยบรรยากาศแบบชาววังฝรั่งเศส

 

 

ชิ้นเด่นในโซน Around the World in Dior ซึ่งมีผลงานของจอห์น กัลลิอาโน่เป็นตัวเอก

 

 

 หนึ่งในผลงานจากโซนจัดแสดงวัฒนธรรมจากทั่วโลกผ่านฝีมือดีไซเนอร์ภายใต้แฟชั่นเฮาส์แห่งนี้

 

 

 กลิ่นอายของหลากวัฒนธรรมกระจายตัวอยู่ในโซน Around the World in Dior

 

เราได้เขยิบเข้าสู่โลกของดิออร์ในทุกหมวดหมู่ สัมผัสกับจิตวิญญาณความเป็นปารีสผ่านเสื้อเฟอร์ตัดต่อลวดลายและสีสันเป็นทรงหอไอเฟล ก้าวเข้าสู่โถงจำลองอาเตลิเยร์สีขาวโพลนสะอาดตาซึ่งประดับผนังจากพื้นจรดเพดานสูงด้วยหุ่นขึ้นผ้าดิบจำนวนหลายสิบตัว ได้เฝ้ามองการทำงานของเหล่าช่างสวมชุดกาวน์ในเวิร์กช็อปสาธิตงานปักงานเย็บ ได้ค้นลึกแง่มุมพัฒนาการแห่งเทรนด์จากปกนิตยสารเป็นร้อยจากทุกทศวรรษ อีกทั้งยังได้สัมผัสกับนิยามความงามตามกาลสมัยโดยสุดยอดมาสเตอร์สายบิวตี้ประจำเฮาส์ ทั้งเจ้าแห่งสีสัน Tyen และกูรูแห่งความหลากหลาย Peter Philips และแน่นอนว่าที่ขาดไม่ได้คือ Serge Lutens ผู้สร้างความงดงามอันไร้ที่ติให้แก่วงการ

 

 

เสื้อเฟอร์ตัดต่อลวดลายและสีสันเป็นทรงหอไอเฟล

 

 

โถงขาวโพลนจัดแสดงผลงานระหว่างการตัดเย็บเสมือนการจำลองอาเตลิเยร์ย่อมๆ ไว้ในนิทรรศการ

 

 

ช่างสวมชุดกาวน์ในเวิร์กช็อปสาธิตงานปักงานเย็บ 

 

 

ปกนิตยสารจากทุกทศวรรษอันเป็นเครื่องมือในการนำเสนอความงดงามของดิออร์ถูกขึ้นกำแพงไว้เป็นร้อยเล่ม

 

 

ปกโว้กปารีส ฉบับเดือนตุลาคม ปี 1965 หน้าปก Catherine Deneuve

 

 

 พื้นที่ส่วน Dior Couturier and Perfumer อุทิศให้กับจุดกำเนิดของน้ำหอม Miss Dior อันลือลั่น

 

อีกห้องกึ่งสวนสวยแสนเรียบง่ายที่ชื่นตาด้วยกลีบดอกไม้นานาพรรณ จัดวางผลงานเสื้อผ้าอาภรณ์ที่อิงแนวคิดหมู่มวลพฤกษาเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ใบ้ถึง “Flower-woman” ซิลูเอตสำคัญที่เลียนล้อไม้ดอกในธรรมชาติจากคอลเล็กชั่น New Look ขยายความไปสู่ “กลิ่น” ที่แท้จริงผ่านสเตชั่น Dior, Couturier-Perfumer ซึ่งอุทิศโถงพื้นที่ให้ Miss Dior น้ำหอมระดับคลาสสิกของแบรนด์ ในขณะที่ตู้กระจกตรงกลางบรรจุชุดกระโปรงไอคอนิก 3 ยุคจากฝีมือนักออกแบบ 3 สไตล์...ดิออร์, ราฟ ซีมงส์ และมาเรีย กราเซีย คิอุริ

 

สวนสวยมีอิทธิพลอย่างแรงกล้ากับชิ้นงานมากมายของแบรนด์ เนื่องจากเมอซีเยอคนดังมีความหลังกับคฤหาสน์บ้านเกิดตั้งแต่วัยเยาว์

 

 แรงบันดาลใจสำคัญอีกอย่างของเมอซีเยอดิออร์คือรูปทรงตามธรรมชาติของดอกไม้ ดังที่ปรากฏในชิ้นงานมากมายภายในห้องจำลองสวนสวย

 

“New Look” ชิ้นงานระดับตำนานฝีมือเมอซีเยอ Christian Dior จากปี 1947 ซึ่งถือเป็นผลงานการออกแบบแฟชั่นที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในวงการ

 

ที่สุดของนิทรรศการคือโชว์เคสสำคัญ 6 ห้องที่จัดแสดงผลงานโอต์ กูตูร์ชุดเด็ดของ 6 นักออกแบบผู้ได้รับมอบหมายภารกิจสูงสุดบนยอดพีระมิดแห่งอุตสาหกรรมแฟชั่น นี่คือโอกาสทองที่เกือบจะเรียกว่าเป็นไปไม่ได้ในชีวิตของผู้ชมรายหนึ่งเมื่อชิ้นงานแจ้งเกิดที่ต่อต้านแนวทางเดิมอย่างแนบเนียนอยู่ในทีของ Yves Saint Laurent วางเสนออยู่ในห้องถัดจากผลงานแนวเรี่ยมนิ่งแต่มากเหตุผลของ Marc Bohan ก่อนค่อยๆ เพิ่มดีกรีความดรามาติกผ่านโครงทรงอุดมลายเส้นในโถงถัดไปของมาสเตอร์แฟชั่นสถาปนิก Gianfranco Ferré และพุ่งทะยานถึงขีดสุดงานคอสตูมละครในยุคของ John Galliano จากนั้นจึงเข้าสู่โหมดคลื่นลมสงบหลังพายุโหมกระหน่ำด้วยผลงานของ Raf Simons และทิ้งท้ายด้วยงานแนวสตรีนิยมของ Maria Grazia Chiuri

 

 

ห้องจัดแสดงผลงานโอต์ กูตูร์ฝีมือ Yves Saint Laurent ภายใต้ชายคา Dior ผู้ขึ้นแท่นแทนเมอซีเยอดิออร์หลังการเสียชีวิตกะทันหัน

 

 

ถัดมาเป็นผลงานแนวเรี่ยมนิ่งแต่มากเหตุผลของ Marc Bohan ผู้กุมบังเหียนคนต่อมา

 

 

 ต่อด้วยโอต์ กูตูร์ฝีมือ Gianfranco Ferré มาสเตอร์แฟชั่นสถาปนิกที่นำโครงทรงอุดมลายเส้นมาใช้ในงานออกแบบ

 

 

 งานคอสตูมละครในยุคของ John Galliano ซึ่งเป็นอีกยุคที่ดิออร์เป็นขวัญใจแฟชั่นมากที่สุด

 

 

 โอ์ กูตูร์ฝีมือ Raf Simons ผู้ดึงความโมเดิร์นมาสู่แฟชั่นเฮาส์จนเป็นยุคที่ทุกอย่างดูเข้าที่เข้าทางและเข้าถึงได้

 

 

 ปิดท้ายด้วยงานแนวสตรีนิยมของ Maria Grazia Chiuri ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์คนปัจจุบัน

 

 

ห้อง The Dior Ball รวบรวมผลงานชุดพรมแดงของเหล่าเซเลบริตี้ที่เป็นภาพจำ ไล่ตั้งแต่ชุดของเจ้าหญิง Diana , Rihanna ไปจนถึง Jennifer Lawrence 

 

 
ชุดเดรสสีน้ำเงินที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดีไซน์ของชุดชั้นในโดยห้องเสื้อดิออร์ฝีมือ John Galliano ที่เจ้าหญิง Diana สวมไปงานเมต กาล่า ปี 1996 ถูกจัดแสดงอยู่กึ่งกลางของห้อง The Dior Ball

 

ชุดเดรสกระโปรงบานพร้อมเสื้อคลุมยาวสีงาช้างที่ Rihanna สวมไปเยือนพรมแดงเมืองคานส์ปีล่าสุด

 

 

 ชุดเดรสกระโปรงบานไล่สีจับระบายที่ Jennifer Lawrence สวมไปรับรางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Silver Linings Playbook บนเวทีออสการ์เมื่อปี 2013 ถูกจัดแสดงอยู่ไม่ไกลจากชุดของเจ้าหญิง Diana

 

อุดมการณ์ทั้งหมดได้รับการขับเน้นที่มาที่ไปอีกครั้งด้วยชิ้นงานปิดท้ายนิทรรศการ บาร์แจ็กเกตและกระโปรงสุ่มในตำนานจากคอลเล็กชั่นปฐมฤกษ์ของอนุญาตให้เราตั้งคำถามกับตนเองถึงการเปลี่ยนโฉมไปของยุคสมัยและความสำคัญของคำว่า “แฟชั่น” ...ก็ใครเล่าจะคาดคิดว่าการ “ปลดแอกความแร้นแค้นทางสังคม” ซึ่งแสนจะทนทายาดกับคำวิพากษ์ร้อยแปดที่ปะทุให้เกิดอุตสาหกรรมแห่งสไตล์ขึ้นใหม่ในปี 1947 หลังจากที่เสื้อผ้าของสตรีถูกทอนลงเป็นเพียงเครื่องแบบสงครามอยู่นานหลายทศวรรษตลอดช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 นั้นได้รับเลือกในท้ายที่สุดให้เป็นลุคที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก

 

เรื่อง/ภาพ: สธน ตันตราภรณ์

 

WATCH