FASHION

งงมากแม่! เมื่อใครๆ ก็พากันเรียกคนที่ไม่ใช่แม่ว่า “แม่” กันทั้งเมือง

เปิดคลังสะท้อนควาหมายคำว่าแม่กับบทบาทของคำซึ่งสะท้อนความหมายอันน่าสนใจในปี 2019 เมื่อแม่ไม่ได้เป็นแค่แม่อีกต่อไป

เนื้อหาสำคัญ

  • เมื่อคำว่าแม่กลายเป็นคำสามัญที่ดูเหมือนไม่พิเศษแต่กลับซ่อนความพิเศษไว้อย่างน่าเหลือเชื่อ
  • อธิบายรากฐานการใช้คำต่างวาระ ต่างบริบทเพื่อให้เข้าใจความหมายคำว่าแม่ในหลายโอกาส
  • บทวิเคราะห์สะท้อนความจริงทางสังคมที่สร้างคำว่าแม่ในรูปแบบใหม่เพื่อตอบสนองเหตุผลหลายอย่าง

 

________________________________________________

 

     แม่ แม้ แม่! คำอุทานอันคุ้นหูประจำปี 2019 “แม่” ในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่หรือแม้แต่รุ่นเก่าที่ตามทันกระแสโลกยุคใหม่ก็ตามมันได้เพิ่มพูนความหมายและบริบทของมันออกไปอย่างต่อเนื่อง บรรทัดฐานการอธิบายถูกขยายให้กว้างขึ้นๆ มันไม่ใช่คำจำกัดความ แต่คำว่าแม่นี้จะถูกแปรเปลี่ยนเป็น ‘คำไม่จำกัดความ’ และนี่คือความพิเศษของภาษาวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับคำว่าแม่พร้อมบริบทต่างๆ ของสังคมนี้ที่อยู่ใกล้ตัวเสียเหลือเกิน

พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสภาปี พ.ศ. 2554 / ภาพ: ผู้จัดการ

     เราเริ่มต้นกับคำนิยามดั้งเดิมกันก่อน...แม่ในความหมายตามราชบัณฑิตยสภาระบุว่าแม่คือมารดาผู้ให้กำเนิดชีวิต นอกจากนี้มีการระบุในการใช้แม่เติมหน้าคำต่างๆ สร้างคำและความหมายที่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นหลักๆ แล้วแม่ผู้ให้กำเนิดคือความหมายหลักของคำนี้ ทุกคนเข้าใจว่าหมายถึงสตรีผู้คลอดเราออกมา ไม่ว่าจะเลี้ยงดูปูเสื่อเราหรือไม่แม่คนแรกในชีวิตของทุกคนก็คือผู้หญิงผู้นี้

1 ในฉากจากภาพยนตร์เรื่อง Stepmom ที่สะท้อนความรักแม้เธอไม่ใช่แม่แท้ๆ / ภาพ: Everett Collection

     เริ่มพิเศษขึ้นกับความหมายของแม่ ต่อมามันเริ่มไม่ใช่แค่ผู้ให้กำเนิด แต่หมายถึงความผูกพันบางอย่าง บางครั้งบางคนเรียกบุคคลที่เลี้ยงดูพร้อมสร้างความผูกพันในวัยเยาว์จนเรียกว่าแม่ จากการสอบถามถึงตัวอย่างนี้ในออฟฟิศของโว้กประเทศไทยระบุว่า “ยายเลี้ยงดูเรามา ปกป้องดูแลมาตั้งแต่เด็ก เราก็เลยเรียกยายว่าแม่” นี่เป็นอีกตัวอย่างที่ระบุได้ว่าแม่มีความสำคัญในเชิงความคิดมากกว่าแค่สถานะผู้ให้กำเนิดเพียงเท่านั้น



WATCH




ภาพ: Sumrej

     แต่แม่หรือขุ่นแม่! (ความเพี้ยนตามสมัยนิยม) เวลาเรียกคนโตกว่าเกิดจากอะไรกันแน่ในเมื่อมีสรรพนามเรียกได้ทั้งพี่ น้า ป้า อา และอื่นๆ ตามการคิดค้นทั่วไป คำว่าแม่ในความหมายนี้ถูกแทนที่ด้วยความรู้สึก เรารู้สึกมีปัจจัยบางอย่างผูกพันกับเขา นับถือเคารพเขา ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงและเพศทางเลือกที่มักเรียกกัน ตัวตนของคนๆ นั้นมีอะไรบางอย่างเหมือนแม่ของเรา ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติแม่เรามี 9/9 ส่วน คนที่ออฟฟิศอาจจะมี 4/9 ส่วน เช่นชอบบ่น ใจดี มีความเชื่อมโยงกัน และอีกหลายต่อหลายเหตุผลที่ทำให้รู้สึกว่านี่คือแม่ ณ บริบทหนึ่งในเวลาจำเพาะเจาะจง เช่นการเรียกแม่แทนเจ้านายในฐานะลูกน้องคนสนิท หรือเรียกแม่แทนพี่ที่เคารพนั่นเอง...

ภาพของเจนนี่-ปาหนันที่ถูกติดแฮชแท็ก #งงอะแม่ สะท้อนความตลกจากรายการเทยเที่ยวไทย / ภาพ: @toeytiewthai

     มาถึงแม่ในยุคปัจจุบันที่แปลความหมายสลัดแกนหลักคำว่าแม่เดิมทิ้งไปพอสมควร ย้อนดูคำว่าผู้ให้กำเนิด ความผูกพันอะไรบางอย่าง ตามราชบัณฑิตยสภาจริงๆ แล้วแม่มีความหมายมากกว่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ความเป็นหัวหน้า คำยกย่องเทวดาอย่างแม่กาลี แม่ธรณี เป็นต้น เพราะฉะนั้นการเรียกแม่แม้แต่ในราชบัณฑิตสภาเองยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่านี่คือคำที่ตีความในฐานะถูกยกย่องให้เหนือกว่าและมีความพิเศษกว่าคนทั่วไป

ความเป็นสุดยอดของ Beyonce ที่ถูกขนานนามบ่อยครั้งว่า “แม่ก็คือแม่” / ภาพ: Courtesy of Beyonce

     ไอดอล ศิลปิน นักดนตรี นางแบบถูกเรียกว่าแม่! เพราะพวกเธอคือตัวแม่...ทำไมกัน ทำไมเราต้องเรียกแบบนั้น คำว่าตัวแม่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่อีกครั้งโดยมีนัยยะสำคัญด้านความสามารถและการเคารพนับถือในรูปแบบที่ต่างกัน ร้องเพลงเก่งมากอย่าง Adele นางแบบไทยอย่างแม่ลูกเกด-เมทินี ความสามารถเป็นหญิงเก่งอย่างโอปอล์-ปาณิสรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโคตรตัวแม่อย่าง Rihanna หรือ Beyonce ก็อยู่ในบรรทัดฐานเดียวกันนี้ พวกเธอถูกยกไว้บนหิ้ง แม่ในที่นี้จึงหมายถึงความสุดยอดเหนือกว่าดุจเทพ ถ้าพระแม่ธรณีหมายถึงเทพีแห่งพื้นดิน แม่บี(ยอนเซ่)คงเป็นเทพีแห่งนักร้องผู้แสดงคอนเสิร์ตได้อย่างสุดยอด “แม่ก็คือแม่”

ใหม่-ดาวิกา โฮร์เน่ในงานโว้ก กาล่าประจำปี 2019 ที่ให้สัมภาษณ์รายการ #VogueAsks ว่าคำพูดติดปากคือ “งงอะแม่!”

     วนมาถึงเรื่องง่ายๆ อย่างคำอุทานกันบ้าง อิทธิพลทางภาษามีความสำคัญขั้นสุดกับเรื่องนี้สิ่งที่ทำให้คำว่า “งงมากแม่” หรือ “เริดมากแม่” เกิดเป็นกระแสไวรัลได้ขนาดนี้ ถอดรหัสกันวันนี้ว่าข้อแรกมันคือความหนักแน่นทางภาษา ภาษามีพลวัติเปรียบได้กับของเหลว แม้มันจะไหลเวียนไปได้อิสระแค่ไหนสุดท้ายแล้วปริมาณของน้ำเมื่อมารวมกันย่อมมีค่าเท่าเดิม คำถูกปรับเปลี่ยนนิยามให้ไหลเป็นน้ำ แต่สุดท้ายคำว่าแม่ยังหนักแน่นไม่ว่าจะมีความหมายแบบใดก็ตาม ทำให้เมื่อประกอบเป็นคำอุทานมันดูทรงพลังและมีอิทธิพลต่อสังคมอย่างมาก และเมื่อมีการผลิตซ้ำโดยดารานักแสดงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สามารถสร้างวลีกระแสให้สังคมได้เสมอเช่นรายการของเหล่าเพศทางเลือกหรือจะเป็นใหม่-ดาวิกากับคำพูดติดปากว่า “งงอะแม่!”

หนังสือ Social Perspectives in Lesbian and Gay Studies: A Reader ที่สะท้อนมุมมองความจริงในการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับเพศที่ 3 / ภาพ: Amazon

     เริ่มพูดถึงเพศทางเลือกเราจะขาดการนิยามแม่ในแบบของพวกเขาไม่ได้เลย (การแยกกลุ่มวิเคราะห์ครั้งนี้มิได้มีเจตนาแบ่งแยกด้านเพศแต่อย่างใด เพียงแค่บริบทสามารถจัดกลุ่มอธิบายได้อีกรูปแบบหนึ่ง) แม่ในบริบทของเพศทางเลือกมักชอบเรียกกันกับกะเทยรุ่นพี่ผู้มีบารมีตนเป็นที่เคารพอยู่ในจุดที่เหนือกว่า มันอาจจะคล้ายๆ กับคนทั่วไปแต่เมื่ออ้างอิงที่มาจากบทความวิจัยต่างประเทศจะเห็นได้ว่าแม่ของคนกลุ่มนี้มีนัยยะสำคัญอย่างมาก เพราะการไม่ถูกยอมรับทั้งจากคนรอบข้างและครอบครัวมันยากที่จะดำรงชีวิตปกติสุข ฉะนั้นแล้วแม่ของพวกเขาคือยอดมนุษย์ที่ฝ่าฟันจุดนั้นมายืนอยู่ในจุดปักธงความสำเร็จ เป็นทั้งธงให้น้องๆ ตั้งเป้าเดินตามไปให้ถึง และเป็นแม่ที่คอยโอบอ้อมให้กำลังใจเหล่ารุ่นใหม่ให้เอาชนะความคับแคบทางจิตใจในสังคม ความหนักแน่นของคำว่าแม่มีนัยยะสำคัญมากกว่าแค่ความตลกโปกฮาเวลาหยอกล้อกัน เพราฉะนั้นจะเข้าข่ายบทที่กล่าวถึงครอบครัวเพื่อนที่ยอมรับตัวตนเองเพศทางเลือกตามบท “Families We Choose” จากหนังสือเรื่อง Social Perspectives in Lesbian and Gay Studies: A Reader

ปอย-ตรีชฎา เพชรรัตน์กับชุดฟินาเล่สุดงดงามจากแบรนด์ Poem / ภาพ: @poydtreechada

     ถึงแม้คำว่าแม่จะถูกนิยามในเชิงตัวบุคคลและความรู้สึกนึกคิดต่างๆ แต่ทว่าคำนี้ยังดิ้นได้ตามความลื่นไหลของภาษาออกมาเป็นเรื่องราวของบรรทัดฐานและเส้นแบ่งเกณฑ์ได้อย่างดีเยี่ยม ยกตัวอย่างสำคัญอย่างแฟชั่นโชว์ขอแบรนด์ Poem ฝีมือการออกแบบของคุณ-ฌอม ชวนล ไคสิริ ดีไซเนอร์ชื่อดัง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาแฮชแท็กดัง #อยากขึ้นยานแม่ต้องแวร์โพเอม คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์ของวงการแฟชั่นไทย แม่ในที่นี้ไม่ใช่ความสัมพันธ์หรือความรู้สึกถึงคุณค่าในเชิงโอบอุ้มหรือไอดอลเพียงเท่านั้น เพราะมันคือคำแสดงถึงบรรทัดฐานของความงดงามด้านแฟชั่นว่า “ถ้าคุณอยากเป็นแม่คุณก็ต้องสวมแบรนด์นี้” เมื่อนำสิ่งนี้มาผนวกกับเหล่าตัวแม่ของวงการ งานนี้จึงสามารถถูกอนุมานได้ว่าเหล่าตัวแม่ทั้งแก้ม-วิชญาณี, ปอยด์-ตรีชฎาที่ร่วมเดินในครั้งนี้ และแขกผู้มาร่วมงานตัวแม่ที่สวมชุดจากแบรนด์อีกหลายคนคือผู้ก้าวข้ามเส้นขีดมาตรฐานคำว่า “แม่” ในวงการมาแล้วนั่นเอง

ภาพ: Pet Aholic

     แล้วการมองมุมกลับนอกจากคำว่าบรรทัดฐานรวมถึงสรรพนามการเรียกผู้อื่นแล้ว มีใครเรียกตัวเองว่าแม่หรือไม่ คำตอบคือก็มีบ้างแต่เขาหรือเธอต้องอยู่ในสถานะที่ถูกยอมรับหรือถูกเรียกมาก่อนหน้านี้เป็นส่วนใหญ่ คำที่ยิ่งใหญ่และมีพลังขนาดนี้การสถาปนาตนรับตำแหน่งแม่ของคนอื่นคงไม่ใช่เรื่องดีนักหากเขาไม่เริ่มยอมรับและเปิดโอกาสยื่นความเป็นแม่ให้กับเราก่อนในครั้งแรก ไม่ว่าจะอาวุโสเท่าไหร่ เก่งเพียงใดคำว่าแม่นั้นไม่ใช่คำแทนที่จะหยิบมาใช้กับผู้อื่นโดยพลการ ถ้าทำได้แบบปลอดภัยที่สุดคงเป็นการที่ผู้หญิงเรียกเหล่าสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขและแมวว่าลูก และแทนตนเองว่าแม่

แม่เรียกคนธรรมดาในสมัยโบราณ แต่ในบางบริบทก็มีการเรียกสถานะแบบแม่หญิงจันทร์วาดในละครบุพเพสันนิวาส / ภาพ: @ladiiprang

     ในยุคสมัยปัจจุบันการเรียกเพื่อนหรือคนใกล้ชิดว่าแม่ “ว่าไงอะแม่” หรือ “กินข้าวกันแม่” ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สักเท่าไหร่นักเพียงแต่กระแสกำลังโดดเด้งขึ้นมา แท้จริงแล้วเมื่อย้อนนึกถึงสมัยโบราณและวิ่งตามหาความหมายกำลังสารพัน แต่แม่ถูกใช้เรียกคนอายุเท่ากันหรือน้อยกว่ามาแต่ดั้งเดิมเช่น แม่แดง แม่ชื่น แม่ขวัญประมาณนี้ เพราะฉะนั้นการเรียกเพื่อนว่าแม่ในบางโอกาสมันแสดงถึงพลวัติของภาษาวิ่งวนย้อนกลับไม่ต่างกับแฟชั่น และไม่แปลกเลยที่ผู้ชายจะเรียกคนผู้หญิงคนอื่นว่าแม่เพราะสมัยก่อนก็เป็นเช่นนี้ เพียงแต่ว่าในปัจจุบันผู้ชายแท้บางคนอาจจะถูกนิยามว่าแม่กันบ้างแต่ก็ไม่คุ้นหูนัก

ภาพ: SheKnows

     แม่ในรูปแบบอื่นๆ คือแม่ในแบบฉบับของสถานะคุณแม่เรียกคุณแม่ด้วยกัน จากผลการสัมภาษณ์มีข้อมูลหนึ่งน่าสนใจคือคำว่าแม่เองสามารถเรียกกลุ่มเพื่อนๆ ว่าแม่ได้อย่างเต็มปากจากสถานการณ์ชีวิตเดียวกัน ทั้งนี้พวกเขายังคงสนิทชิดเชื้อและเคารพกัน แต่ไม่ใช่เคารพในสถานะตัวแม่หรือความเป็นแม่ดูเลี้ยงดูเรา แต่เคารพในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่รับบทบาทหนักหนาในช่วงชีวิตแบบเดียวกัน ณ เวลาหนึ่ง...

ลายกราฟฟิกที่สะท้อนว่าภาษาแม้แต่ตัวอักษรเองยังดิ้นได้และให้ความรู้สึกรวมถึงความหมายผิดแปลกออกไป / ภาพ: Graphis

     ส่วนท้ายของเรื่องนี้คือเรื่องของการดิ้นของภาษา เราเห็นคำบางคำดิ้นไปมาเช่นคำว่า “Queen” และ “King” ในภาษาอังกฤษไม่ได้หมายถึงสมาชิกราชวงศ์ แต่หมายถึงบุคคลผู้เป็นเลิศและได้รับการนับถือ แล้วอย่างนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำว่า “แม่” ที่ตอนนี้มีคำนิยามแบบไร้ขีดจำกัดจะหมายถึงอะไร คำตอบคือบริบท ช่วงเวลาและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ในการพิมพ์ตัวอักษรสามารถอ่านบริบทและอารมณ์ได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่ถ้าพูดกันต่อหน้าโทนของเสียงเรียกแม่จริงๆ ตัวแม่หรือแม้แต่คำอุทานและเสียดสีจะมีลักษณะการพูดที่แตกต่างกันสิ้นเชิงอย่างเช่น แม่, โอ้แม่โอปอล์, โอ้ยงงมากแม่! และ โถ้แม่... (พร้อมจริตการเบะปาก) ตามลำดับ

 

     โดยสรุปคำว่า “แม่” เป็นตัวอย่างของความลื่นไหลของภาษาไทยได้อย่างดีเยี่ยม ความหมายอันหนักแน่นถูกตีความใหม่และนำมาใช้ให้ทันสมัย บ้างก็ว่ามีแม่คนเดียวบนโลกนี้ บ้างก็ว่าก็เป็นสีสันทางภาษาที่ดิ้นได้และดูทันสมัย ดึงดูดคนด้วยพลังแห่งคำ แต่ก่อนมีคำว่า “ซิส” กระเถิบมาเป็น “แม่” ต่อไปจะเป็น “ยาย” หรือไม่...ต้องคอยติดตาม เพราะหมัดฮุคทางภาษามักจะต่อยหน้าเราเข้าอย่างจังเมื่อมีปรากฏการณ์ใหม่เกิดขึ้นในสังคม

 

*หมายเหตุ: บทความนี้ถูกสะท้อนขึ้นจากปรากฏการณ์ขึ้นในสังคมและวิเคราะห์ผ่านมุมมองทางสังคมศาสตร์ ภาษาศาสตร์รวมถึงหลักจิตวิทยาเบื้องต้น ประกอบกันขึ้นเป็นเนื้อหา เนื่องด้วยลักษณะภาษาเป็นเชิงนามธรรมมิสามารถหยิบจับจ้องมองและรู้ในทันที มีตื้นลึกหนาบางกลั่นกรองผ่านความคิดคนอีกทีหนึ่ง ฉะนั้นอาจจะมีบางมุมมองที่ผู้อ่านและผู้เขียนเห็นไม่ตรงเพราะฉะนั้นสามารถคอมเมนต์ติชมเพิ่มเติมได้ในช่องคอมเมนต์

 

ที่มาข้อมูล: Social Perspectives in Lesbian and Gay Studies: A Reader, Winnews, Graphis และบทสัมภาษณ์ทั้งภายในสำนักงานโว้กประเทศไทยรวมถึงหลากหลายอาชีพและช่วงอายุโดยไม่เกี่ยวกับโว้ก

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Mother's Day