FASHION

ขุดเบื้องหลัง 'การเต้นรำ' รากเหง้าแห่งแรงบันดาลใจของสไตล์ฉบับ CHANEL

กระทั่งก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อครั้งที่โคโค่ได้พบกับดิอากิเลฟที่กรุงเวนิส เขาสนับสนุนอย่างเต็มที่ในวิสัยทัศน์ของเธอ ที่ต้องการนำเสนองานศิลปะหลากหลายสาขามาไว้ด้วยกัน ทั้งการเต้นรำ ดนตรี การวาดภาพ ไปจนถึงการทำเสื้อผ้า และนี่คือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่แน่นแฟ้นยาวนาน อีกทั้งยังจุดเริ่มต้นในการให้ความร่วมมือด้านศิลปะมากมาย โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยสนับสนุนให้เกิดการแสดงบัลเล่ต์ Rite of Spring ขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1920 แบบไม่ประสงค์ออกนามอีกด้วย

     หากจะกล่าวถึง โคโค่ ชาเนล ดีไซเนอร์หญิงระดับตำนาน เหง้าชีวิตบางส่วนของสุภาพสตรีผู้นี้ก็คงจะต้องถูกนำขึ้นมาพูดถึงด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ในฐานะเด็กกำพร้าที่เติบโตมาท่ามกลางแม่ชี หากเป็นบทบาทที่ใครหลายคนยังคงประหลาดใจอยู่เสมอเมื่อเอ่ยถึง นั่นคือบทบาทของนางระบำในคาบาเร่ต์... ในซีรีส์เรื่องใหม่ของแบรนด์ CHANEL ในชื่อว่า "Inside CHANEL" ในตอนล่าสุดอย่าง “Chanel and Dance” ยังเผยให้เห็นถึงการผสมผสาน และความเชื่อโยงกันระหว่างรูปแบบของงานศิลปะในหลากหลายมุมมอง นั่นคือ “การเต้นรำสมัยใหม่” และสไตล์ของแบรนด์ชาเนล ที่โคโค่ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์ของโลกแฟชั่นจากอดีต จนถึงปัจจุบันเสมอมา

     ย้อนกลับไปในช่วงชีวิตที่โคโค่ยังมีชีวิตอยู่ เธอเติบโต เรียนรู้ ลองผิดลองถูก โดยล้อมรอบไปด้วยกลุ่มเพื่อนที่หลากหลาย หนึ่งในหยิบมือนั้นยังรวมไปถึงเหล่าศิลปินที่ถือได้ว่ามีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นหัวใจสำคัญแห่งยุค Avant-Garde ซึ่งมิอาจปฏิเสธได้ว่าโดโค่เองยังได้แรงบันดาลใจด้านความคิดสร้างสรรค์อย่างล้นหลามมาจากงานของพวกเขาเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาที่ศิลปะการเต้นรำกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ก็นับเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ชาเนลได้สะท้อนความต้องการแท้จริง และนำเสนอให้แก่เหล่าสุภาพสตรีในยุคนั้นผ่านทางแฟชั่น นั่นคือการมอบอิสภาพให้กับร่างกายเพื่อให้พวกเธอสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการเต้นรำ ที่ได้สะท้อนวิสัยทัศน์ของโคโค่เกี่ยวกับแก่นแท้แห่งเสน่ห์ของสุภาพสตรีอย่างแท้จริง

Coco Chanel และ Serge Diaghilev (ขวา) หนึ่งในผู้สนับสนุนวิสัยทัศน์การผสมผสานศิลปะหลายแขนงมาไว้ด้วยกันบนเสื้อผ้าของเธอ

 

     ครั้งหนึ่ง โคโค่ กาเบรียล ชาเนล ได้รู้จักกับ Caryathis นักเต้นรำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น กระทั่งที่เธอได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะแขนงนี้ และยังเคยกล่าวย้ำเอาไว้อีกว่า “จงเอาออก เอาออกเสมอ และห้ามเพิ่มเติมสิ่งใดเข้าไป...เพราะไม่มีอะไรที่จะสวยงามไปกว่าอิสรภาพของร่างกายอีกแล้ว” ที่นับเป็นปณิธานตั้งต้นสำคัญในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าของโคโค่ ที่ความอ่อนช้อย กอปรสง่างามของเหล่านักเต้นจะไม่ถูกจำกัดด้วยเสื้อผ้าอีกต่อไป นั่นคือแนวคิดของเธอที่ต้องการนำเสนอลุคที่ทันสมัย และปราศจากข้อจำกัดทั้งปวง Isadora Duncan ซึ่งมีแนวคิดเช่นเดียวกันนี้ยังได้คาดการณ์ไว้ว่า “ร่างกายและจิตวิญญาณของนักเตค้นในอนาคตจะกลมเกลียว และผสานรวมเป็นหนึ่งเดียวจนกระทั่งที่ภาษาที่อยู่ในจิตวิญญาณตามธรรมชาติสามารถสื่อออกมาผ่านการเคลื่อนไหวทางร่างกายได้อย่างสมบูรณ์แบบ"



WATCH




     ไม่เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ. 1913 โคโค่ยังรู้สึกทึ่งในความงามอันลึกซึ้งที่ปรากฏอยู่ในการแสดงเรื่อง Rite of Spring โดยคณะบัลเล่ต์ “Ballets Russes” ซึ่งนับเป็นผลงานกำกับการแสดงของ Serge Diaghilev อีกหนึ่งบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการการปฏิรูปการแสดงบัลเล่ต์คลาสสิกแบบดั้งเดิมให้แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง กระทั่งก่อให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อครั้งที่โคโค่ได้พบกับดิอากิเลฟที่กรุงเวนิส เขาสนับสนุนอย่างเต็มที่ในวิสัยทัศน์ของเธอ ที่ต้องการนำเสนองานศิลปะหลากหลายสาขามาไว้ด้วยกัน ทั้งการเต้นรำ ดนตรี การวาดภาพ ไปจนถึงการทำเสื้อผ้า และนี่คือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่แน่นแฟ้นยาวนาน อีกทั้งยังจุดเริ่มต้นในการให้ความร่วมมือด้านศิลปะมากมาย โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยสนับสนุนให้เกิดการแสดงบัลเล่ต์ Rite of Spring ขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1920 แบบไม่ประสงค์ออกนามอีกด้วย

     “ในการแสดงบัลเล่ต์ การเต้นรำเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการแสดง แต่ก็ไม่ใช่องค์ประกอบที่สำคัญที่สุด... บางทีการปฏิวัติวงการบัลเล่ต์ที่พวกเราได้ทำลงไปอาจจะส่งผลได้ไม่มากนักต่อการเต้นรำ เมื่อเทียบกับฉาก และเสื้อผ้าที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นให้เหล่านักเต้นได้สวมใส่” คำกล่าวดังกล่าวของดิอากิเลฟ ถูกนำมาใช้เปิดงานนิทรรศการเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของคณะบัลเล่ต์ รูสส์ ณ ปารีส โอเปร่า ในปี ค.ศ. 2009 ที่ผ่านมา (ปัจจุบันชาเนลได้อุปถัมภ์ปารีสโอเปร่าแห่งนี้อยู่) ซึ่งถือเป็นถ้อยคำที่สรุปความได้ดีถึงจิตวิญญาณ และแนวคิดที่ก้าวหน้าอันเป็นแก่นแท้ของชาวปารีเซียง อีกทั้งยังสะท้อนความต้องการของ โคโค่ ชาเนล ที่ต้องการเผยแพร่การเคลื่อนไหว และความมีชีวิตชีวาเข้าไปในลุคต่างๆ ที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นด้วยในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าประสบการณ์ของเธอทำให้เธอได้ทางานอย่างใกล้ชิดกับบรรดาคนสำคัญในวงการเต้นรำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคณะบัลเล่ต์ รูสส์

     โคโค่ได้ออกแบบเสื้อผ้าให้นักว่ายน้ำ นักเล่นกอล์ฟ และแชมป์เทนนิสในการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง Train Bleu ซึ่งเป็นการเสียดสียุครุ่งเรืองของทศวรรษ 1920 หรือที่เรียกกันว่า Roaring Twenties ซึ่งเมื่อตั้งใจดูให้ดีแล้ว ชุดเหล่านั้นก็เหมือนว่าจะสามารถนำไปใช้ในการเล่นกีฬาจริงๆ ได้ก็ไม่ปาน อีกทั้งเสื้อผ้าในคอลเล็กชั่นนั้นยังสะท้อนวิสัยทัศน์อันชัดเจนที่จะปลดเปลื้องนิยามแฟชั่นจากพันธนาการเดิม นำไปสู่สัมผัแห่งชีวิตจริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าวยังเห็นได้ชัดจากเสื้อทูนิกผ้าไหมที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งได้รับการออกแบบขึ้นในปี ค.ศ. 1929 ให้กับการแสดงบัลเล่ต์ในชื่อเรื่อง Apollo Musagète ครั้งที่ 2 ของดิอากิเลฟ  ผู้ซึ่งฝังจำโลกแห่งการเต้นรำไว้ในชีวิตของโคโค่ชาเนลโดยไม่อาจลืม ก่อนที่ในอีก 10 ปีต่อมา ในปี ค.ศ. 1939 โคโค่ยังได้ออกแบบเสื้อผ้าให้กับการแสดงบัลเล่ต์เรื่อง Bacchanale  ของคณะ Ballets Russes de Monte-Carlo อีกครั้ง

     ความงดงาม และอิสระที่แสดงออกผ่านการเต้นรำเหล่านั้น ได้เข้าผสมโรงในผลงานของ โคโค่ ชาเนล เสมอมา ดังเช่นที่โคโค่ได้นำเสนอความไม่ถาวร ความไม่ยั่งยืน และการก้าวล้ำทางความคิดในเรื่องเสื้อผ้าแบบเดิมๆ ในขณะที่ยังคำนึงถึงการเคลื่อนไหวเป็นสำคัญ ซึ่งนับเป็นประโยชน์ต่อสรีระของผู้หญิงที่ได้รับการปลดแอกสู่อิสรภาพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

WATCH

คีย์เวิร์ด: #CHANEL #InsideChanel