FASHION

ชนชั้น ในมุมมองของ Riccardo Tisci ที่โชว์ Burberry

เรื่อง สธน ตันตราภรณ์

'คลาส' เป็นของร้อน แตะนิดแตะหน่อยมักเป็นประเด็น แต่ ริกการ์โด ทิสชี (Riccardo Tisci) ที่แบรนด์ เบอร์เบอร์รี่ (Burberry) กลับสามารถลุยหัวข้อนี้ได้อย่างแยบยล อีกทั้งยังสามารถทำให้อุณหภูมิของประเด็นนี้เย็นลงได้อย่างน่าอัศจรรย์ในโชว์คอลเล็กชั่นฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาว 2019 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
 
 
สาระที่มีน้ำหนักและมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดไม่ได้กอรปสร้างและตัดเย็บขึ้นระหว่างเส้นด้ายบนเสื้อผ้าของริกการ์โดเพียงเท่านั้น หากปรากฏเด่นผ่านกลวิธีการจัดโชว์อันฉลาดหลักแหลม ซึ่งแบ่งผู้ชมออกเป็น 2 ห้องภายในโถงใต้ดินของอาคารพิพิธภัณฑ์ Tate Modern ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ การ์ดเชิญกระดาษฟอยล์ 2 ด้านหน้าตาคล้ายโปสเตอร์นิทรรศการร่วมสมัยที่ผ่าชื่อแบรนด์ออกเป็น 2 ส่วนบรรจุมาในซองเนื้อกระด้างเลียนสีไม้อัด ซึ่งผิวสัมผัสคอนทราสต์กันอีกต่อกับวัสดุลื่นมือข้างใน บัตรเชิญนี้ได้รับการแจกจ่ายออกไปสู่ผู้ชม 2 กลุ่มที่เมื่อสังเกตดีๆ จะมีลักษณะร่วมบางอย่างในแต่ละกลุ่มคล้ายกัน บรรณาธิการตัวเอ้จากโลกนิตยสารระบบดั้งเดิมผู้ถือบัตรเชิญฟอยล์ทองขอเชิญประตูขวา ส่วนคลื่นใต้น้ำจากโลกดิจิทัล เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ และสื่อมาแรงจากตลาดเอเชียผู้ถือบัตรเชิญฟอยล์เงินขอเชิญประตูซ้าย เนื่องจากคุณทั้งคู่จะไม่ได้พบกัน ไม่ได้ทักทายกัน และไม่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความเป็นไป รวมถึงความคาดหวังในระบบอุตสาหกรรมร่วมกัน...เพราะสิ่งที่แบรนด์จัดสรรมาให้คือโลกจากคนละจักรวาล...เดียวกัน
 
 

 คำอธิบายภาพ: บัตรเชิญชมแฟชั่นโชว์คอลเล็กชั่น Autumn/Winter 2019 ของ Burberry ที่ถูกส่งให้บรรณาธิการโว้กประเทศไทยผู้ได้การ์ดสีเงิน

 
คุณยังเห็นด้วยอยู่ไหมกับแนวคิดคลาสสิกของวงการสื่อสารมวลชนสากลที่สอนกันมาช้านานว่า "เรามีสิทธิ์แสดงความเห็นกับทุกสรรพสิ่งตราบใดก็ตามที่ทัศนะนั้นๆ ปลูกสร้างขึ้นจากตรรกะและมูลเหตุที่ฟังขึ้นและสมเหตุสมผล" แล้วหากมูลเหตุเหล่านั้นถูกควบคุมจัดวางอย่างระแวดระวังมาก่อนแล้วเล่า เจ้าของบทวิจารณ์เหล่านั้นยังคงสามารถถือสิทธิ์ครอบครองความคิดของตัวเองได้อยู่หรือเปล่า ริกการ์โดก้าวล้ำเกินหน้าดีไซเนอร์รุ่นราวคราวเดียวกันรายอื่นๆ ไปอีกขั้นเมื่อเขาเลือกนำเสนอคอลเล็กชั่นเดียวกันในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยผู้ชมไม่เอะใจเลยสักนิดว่าตนเองในฐานะผู้คุมเกมกำลังกลายสภาพเป็นผู้ร่วมเล่นและตัวละครเสียเองในรอบนี้
 
คำอธิบายภาพ: บรรยากาศช่วงก่อนเริ่มโชว์ภายในห้องสำหรับผู้ที่ถือตั๋วสีเงินภายในพิพิธภัณฑ์ Tate Modern 
 
 
ผู้เขียนอยากชวนให้คุณลองจินตนาการตนเองในฐานะสื่อศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชี้เป็นชี้ตายผลงานมาแล้วนักต่อนัก คุณเต็มไปด้วยความคาดหวังที่จะเห็นผลงานล่าสุดของแบรนด์ในแบบที่คุณคุ้นเคย ในโฉมที่คุณเชื่อว่าคุณรู้จักแบรนด์มากกว่าใครเพื่อน ในศาสตร์ข้อมูลความรู้ทั้งหมดที่มีซึ่งคุณเก็บหอมรอมริบมาเป็นทศวรรษจากการศึกษาและติดตามแบรนด์อังกฤษเก่าแก่แบรนด์นี้ ในโถงสีไม้ที่ยกระดับเป็นสเตเดียมคล้ายโบสถ์นิดๆ ห้องเรียนโบราณหน่อยๆ แห่งนี้นี่เองที่คุณกำลังนั่งเอนกายอยู่บนเก้าอี้โซฟาตัวเขื่องแสนสบายซึ่งเรียงรายไปตามขอบรันเวย์ระบบดั้งเดิม กล่าวคือ แคตวอล์กทอดยาวเป็นเส้นตรงจากผนังฟากหนึ่งไปสู่ผนังอีกฝากหนึ่ง ทันใดนั้นจังหวะดนตรีแนวๆ ก็ระเบิดขึ้นพร้อมกับขบวนนางแบบนายแบบที่ทยอยเดินกันออกมาในลุคที่หากคุณสนใจ คุณอาจจดไว้ในสมุดโน้ตเล่มเล็กๆ ไม่นับรวมความจริงที่ว่าเมื่อคุณมองข้ามไป ภาพข้างหน้าก็แทบจะไม่ต่างจากกระจกเงาที่ส่องสะท้อนให้คุณเห็นคนแบบเดียวกันในโลกที่คุณกำลังอาศัยอยู่ เมื่อสิ้นสุดขบวนฟินาเล เสียงปรบมือกราวขึ้นอย่างมีมารยาท...จากนั้นคุณจึงเริ่มย่อยละเอียดความคิดจากประสบการณ์ที่คุณเพิ่งรับรู้มา และคุณคิดว่าหลายคนก็น่าจะคิดคล้ายๆ กับคุณ
 
คำอธิบายภาพ: ที่นั่งดูโชว์ภายในห้องจัดโชว์สำหรับผู้ที่ถือตั๋วสีทอง
 
คำอธิบายภาพ: ห้องจัดโชว์ห้องแรกในโถงสีไม้ที่ยกระดับเป็นสเตเดียมคล้ายโบสถ์ ตัวแทนของกลุ่มหัวอนุรักษ์นิยม
 
ตัดภาพมาสู่โถงอีกฟากหนึ่ง คราวนี้คุณลองจินตนาการเป็นบลอกเกอร์ชั้นแนวหน้าที่ประสบความสำเร็จข้ามคืนจากการสร้างสรรค์บางสิ่งซึ่งตรงใจแฟนคลับวงกว้างและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เฝ้าติดตามคุณอยู่เรือนล้าน คุณก้าวเข้าสู่ฮอลล์ทึมๆ ที่โอบล้อมด้วยโครงเหล็กนั่งร้านและลวดตะแกรง เบื้องหน้าคือเบาะนั่งทรงลูกเต๋าหลายร้อยตัวที่คดเคี้ยวทอดยาวเป็นเขาวงกตจนคุณไม่สามารถจับทิศได้ว่าแถวที่นั่งเริ่มตั้งต้นจากจุดใดและจบสิ้นลงตรงไหนกันแน่ เมื่อทุกคนเข้าประจำที่ เสียงดนตรีที่หนักหน่วงแต่วังเวงค่อยๆ ปีนวอลุ่มขึ้นจนดังก้อง เด็กวัยรุ่นนับร้อยชีวิตในลุคเสื้อยืดกางเกงวอร์มรุ่นราวคราวเดียวกันกับคุณค่อยๆ ปีนป่ายขึ้นสู่ระเบียงนั่งร้านรอบฮอลล์คล้ายสัตว์ป่าที่เต็มไปด้วยพละกำลังและพร้อมจะปลดปล่อยขุมความรู้สึกภายใน เหล็กลูกกรงรับน้ำหนักและสั่นไหวจนเกิดเสียงแกรกกรากปะปนไปกับเสียงดนตรีที่ผสมผสานสำเนียงกีต้าร์ เปียโน และในบางช่วงฟังคลับคล้ายว่าจะเกือบๆ จะบรรเลงจากวงออร์เคสตราใหญ่ ขบวนโมเดลก้าวออกจากประตูลับที่เหมือนว่าจะคงจังหวะเท้ามาจากที่ไหนสักแห่งก่อนหน้านี้ ลุคไหนที่คุณสนใจ คุณอาจถ่ายรูปเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กๆ แถมในบางช่วงที่คุณเลือกมองออกไปเบื้องหน้า แทนที่จะเห็นพวกเดียวกัน คุณกลับเห็นเบาะเก้าอี้ที่ทอดยาวไปยังทิศทางอื่น ผู้ชมตรงข้ามก็อาจกำลังมองไปยังมุมอื่นของการแสดงเช่นกัน เนื่องจากยังมีมุมอื่นๆ ดึงดูดสายตาอีกมากในฮอลล์นี้ เมื่อสิ้นสุดขบวนฟินาเล เสียงโห่ร้องเชียร์ระเบิดขึ้นอย่างมีพลังเคล้าไปกับเสียงปรบมือ คุณลุกขึ้นยืนเตรียมตัวกลับบ้านโดยยังถูกจับจ้องจากเหล่าเด็กวัยรุ่นบนระเบียงนั่งร้าน...จากนั้นคุณจึงเริ่มย่อยละเอียดความคิดจากประสบการณ์ที่คุณเพิ่งรับรู้มา และคุณคิดว่าหลายคนก็น่าจะคิดคล้ายๆ กับคุณ
 
คำอธิบายภาพ: ห้องจัดโชว์อีกห้องล้อมรอบด้วยตระแกรงเหล็กและเด็กวัยรุ่น ตัวแทนของกลุ่มหัวขบถรักอิสระ
 
 
แต่เปล่าเลย ผู้ชมทั้ง 2 กลุ่มสัมผัสประสบการณ์ต่างกันสิ้นเชิง และ 'ความหลากหลาย' ต่างหากคือสิ่งจริงแท้หนึ่งเดียวในโชว์ที่มุ่งนำเสนอประเด็นเรื่อง 'ความคอนทราสต์' โชว์นี้ ถ้าจะมีบทเรียนใดที่ริกการ์โดมุ่งสอนเราเกี่ยวกับสังคมอังกฤษยุคหลัง Brexit บทเรียนนั้นน่าจะเกี่ยวข้องกับ 'ความต่างขั้ว' ที่ดำรงอยู่ด้วยกันได้บนดินแดนเดียวกัน เขาลวงใจให้เราชื่นมื่นกับความเชื่อมั่นอันแน่วแน่ในช่วงต้นว่าทุกคนคิดเหมือนๆ กับเรา อยู่เหมือนๆ กับเรา ใส่เหมือนๆ กับเรา และชอบเหมือนๆ กับเรา เพียงเพื่อจะตลบกลับหลังและชี้ให้เห็นว่าอาจยังมีมุมอื่นๆ ในสังคมอีกมากที่แตกต่างออกไป...และใช่ว่าจะผิด
 
 
คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าในคอลเล็กชั่นที่ตั้งชื่อไว้แสนสั้นว่า Tempest ซึ่งแน่นอนว่ามีแรงบันดาลใจมาจากบทละครเรื่อง 'พายุพิโรธ' ของกวีอังกฤษ วิลเลี่ยม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ปล่อยของชนิดเต็มรักด้วยเทคนิคสารพัดที่ผูกโยงกับหัวข้อความแตกต่างและงานลวงตา แจ็กเกตเบลเซอร์จากสังคมผู้ลากมากดีได้รับการกลัดติดถาวรไปกับเสื้อวอร์มซึ่งหยิบยืมมาจากสไตล์ระดับสัญลักษณ์ของเด็กอันธพาลข้างถนนในสังคมอังกฤษ ในขณะที่โมทีฟเลื่อมระยิบซึ่งน่าจะใส่สวยในงานราตรีกลับเกิดจากการนำฝาขวดเบียร์ซึ่งเป็นประหนึ่งเครื่องดื่มประจำชาติมาทุบจนแหลกแล้วเย็บแฝงไปกลับเม็ดคริสตัล อีกทั้งธรรมเนียมต่างๆ ในระบบการแต่งกายแต่เก่าก่อนก็ล้วนถูกนำมาตั้งคำถามและปรับสมการเสียใหม่ เพราะกฎเกณฑ์เริ่มสูญสลายไป และอะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้นในวันนี้
 
 
 
ความแยบคายของเบอร์เบอร์รี่ฝีมือริกการ์โด ทิสชีรอบนี้คือการสะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่าชนชั้นจะมีอยู่หรือไม่นั้นไม่สลักสำคัญ ประเด็นหลักอยู่ที่กฎเกณฑ์สลายแล้ว เพราะคอนเซปต์ของคนคนหนึ่งใช้ตัดสินคนอีกหมู่หนึ่งไม่ได้ และจุดประนีประนอมไม่ได้เกิดจากการที่สังคมหนึ่งนั่งชายตามองลงในขณะที่อีกสังคมเลือกไต่กรงลวดสูงขึ้น หากมันคือการยืนเคียงข้างกันอย่างรับรู้และเข้าใจว่าความต่างนั้นมีอยู่เสมอมาและตลอดไป ผู้เขียนเริ่มเข้าใจแล้วในวันนี้ นี่สินะ พลังที่แท้จริงของแฟชั่น

WATCH