FASHION

10 ปีที่ผ่านมาโลกแฟชั่นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง! โว้กรวบยอดสั่งลาทศวรรษที่ 2010s ก่อนเข้าสู่ 2020s

ติดตามการสรุปที่เหตุการณ์สำคัญในแวดวงแฟชั่นและบันเทิงในรอบ 10 ปีได้ตลอดเดือนธันวาคมนี้

โว้กประเดิมซีรีส์ #ADecadeInReview ด้วยการรวบยอดเหตุการณ์และกระแสร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก คัดสรรและกลั่นกรองโดย "กุลวิทย์ เลาสุขศรี" บรรณาธิการบริหารโว้ก และ "จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล" สไตล์ไดเร็กเตอร์โว้ก ไปดูกันว่า 10 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้างที่จุดประกายคนแฟชั่นจนกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก

 

ในขณะที่ Celine โดย Phoebe Philo, The Row และ Victoria Beckham ทั้งผลักทั้งดันลุคผู้หญิงหัวก้าวหน้าผู้นิยมความ “น้อยคือมาก” และรายละเอียดแอบแฝง การมาถึงของ Alessandro Michele ที่ Gucci กลับจุดระเบิดตูมใหญ่ให้กับเทรนด์ “มากคือมาก” ที่อัดแน่นด้วยลุคหนุ่มสาวแฟชั่นสายเนิร์ด ผู้มาพร้อมกับดีเทลเด่นชัด ทั้งถม ซ้อนชั้น และท่วมทับ...หากแปลกใหม่ เต็มไปด้วยชั้นเชิง และน่าตื่นตา! 

  

เมื่อโลกรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของตลาดจีน จะมีเหตุผลใดให้วงการแฟชั่นนิ่งเฉย และแล้วทุกกลวิธีจึงถาโถมสู่สรรพสิ่งอันเกี่ยวเนื่องกับชนกลุ่มนี้จนภูมิภาคใกล้เคียงต่างได้รับอานิสงส์ไปตามๆ กัน กำลังซื้อที่มากมายมหาศาลและรสนิยมอันเป็นเอกลักษณ์เป็นที่จับตามองของนักการตลาดและเหล่าผู้สร้างเทรนด์ อย่างไรก็ตาม หากก้าวพลาดเพียงนิดเดียวในเกมนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาระดับมหภาคได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับแบรนด์ Dolce & Gabbana 

 

 การก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วของโลกยุคดิจิทัลกลับทำให้คนแฟชั่นหวนรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต ด้วยเหตุนี้ แวดวงแห่งสไตล์จึงมีโอกาสต้อนรับการกลับมาของแฟชั่นจากทศวรรษในความทรงจำ ที่โดดเด่นมากคือยุค 1980 และ 1990 ซึ่งกระจายตัวอยู่บนรันเวย์ของ Nicolas Ghesquière ที่ Louis Vuitton กับกระเป๋าคาดเอวของ Gucci 

 

 การปะทุของกระแสชนชายขอบอย่างกลุ่มเพศที่ 3 หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม LGBTQ+ นำมาซึ่งแนวทางการตลาดรูปแบบใหม่ นักวางกลยุทธ์เริ่มสำรวจกำลังซื้อของกลุ่มคนที่วงการละเลยมานาน ผลลัพธ์ที่ได้มีตั้งแต่การสื่อสารแบบตรงๆ โดยใช้สัญลักษณ์ประจำชุมชนอย่างธงรุ้ง จนถึงรูปแบบที่แนบเนียนของการข้ามสายพันธุ์ ส่งผลให้ผู้คนทุกกลุ่มมีอิสรภาพในการแต่งกายที่กว้างกว่าธรรมเนียมปฏิบัติเดิมๆ

 

ลัทธิสตรีนิยมคลื่นลูกใหม่ (ผลักดันโดย Maria Grazia Chiuri ที่ Dior) และกระแส LGBTQ+ ก่อให้เกิดความตื่นรู้เรื่องการมีอยู่ของ “ความงามที่ขยายขอบเขตกว้างออกไปกว่าพิมพ์นิยมดั้งเดิม” ส่งผลให้เกิดผู้นำทางจิตวิญญาณสายใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น “สาวผิวขาว ผมทอง เจ้าของความสูง” ผู้ครองวงการมานานนับศตวรรษ 

 

 การสละตำแหน่งเดิมเพื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์ที่ขลังกว่าของดีไซเนอร์รายหนึ่งคือจุดเริ่มต้นของเกมเก้าอี้ดนตรีที่ไม่รู้จบ ประหนึ่งป่าแฟชั่นเข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบ ด้วยเหตุนี้ตลอดทศวรรษ 2010 โดยเฉพาะครึ่งหลังจึงเต็มไปด้วยข่าวร้อนรายเดือน โดยมีรายชื่อเด่นๆ อาทิ Kim Jones จาก Louis Vuitton สู่ Dior Men, Hedi Slimane จาก Saint Laurent สู่ Celine จนถึงผู้พลิกเกมแบรนดิ้ง Jonathan Anderson ที่ Loewe และ Clare Waight Keller ที่ Givenchy

 

 วิถีดิจิทัลคือปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทศวรรษ การมาถึงของโซเชียลมีเดียและระบบพาณิชย์ออนไลน์บีบบังคับให้ทุกแง่มุมของอุตสาหกรรมต้องคิดใหม่ทำใหม่ ห้างร้านกับแบรนด์น้อยใหญ่ล้มหายตายจากเพราะไม่สามารถปรับตัวได้ทัน วงการสิ่งพิมพ์ตั้งคำถามถึงอนาคต เช่นเดียวกับการที่ตัวละครใหม่ๆ อย่างบล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นตัวแปรสำคัญในธุรกิจสายนี้ แต่อายุของเทรนด์นี้จะยั่งยืนเพียงใด...ทศวรรษหน้ามีคำตอบแน่นอน

 

 

การเติบโตเต็มที่ของสไตล์ Athleisure ที่คุมตลาดมานานปีจนสามารถปรับเปลี่ยนระบบชีวิตของผู้คน บัดนี้กำลังถูกล้างกระดานโดยขั้วตรงข้าม นั่นคือเสื้อผ้าที่เน้นความเรียบโก้คัตติ้งเนี้ยบคมกริบสไตล์ผู้ดี นี่คือข้อพิสูจน์ว่าไม่มีสิ่งใดยั่งยืนในแวดวงแฟชั่น สตรีตแวร์ที่หลายคนสวมใส่เพื่อล้มล้างระบบชนชั้นก็กำลังถูกล้มล้างเสียเอง...รอเวียนกลับมาใหม่ในอนาคต

 

ติดตามซีรีส์ #ADecadeInReview รวบยอดทิ้งทวนทศวรรษที่ 2010s กันได้ตลอดเดือนธันวาคมนี้ ร่วมกันคัดสรรและวิเคราะห์โดยทีมบรรณาธิการโว้กและผู้คร่ำหวอดในวงการไล่ตั้งแต่ พลพัฒน์ อัศวะประภา, พลอย หอวัง, วรรณศิริ คงมั่น, นภัสสร บุรณศิริ ไปจนถึง GossipGun หรืออ่านแบบเต็มๆ ก่อนใครในโว้กฉบับธันวาคม 2562 วางแผงแล้ว!

WATCH